กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาวิจัยพบสารสกัดใบหม่อนมีฤทธิ์ต่อสมรรถภาพทางกายและจิตใจ ทำให้กล้ามเนื้อต้นขามีความแข็งแรง การเรียนรู้และการจดจำดีขึ้น เตรียมต่อยอดขยายผลสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย
นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยสมุนไพร ได้ร่วมมือกับคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการวิจัย “ฤทธิ์ของสารสกัดใบหม่อนต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตในอาสาสมัครวัยกลางคนและสูงอายุ” โดยศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดใบหม่อนต่อสมรรถภาพทางกาย สมรรถภาพทางจิต การเรียนรู้และการจดจำ ในกลุ่มประชากร อายุตั้งแต่ 55-70 ปี จำนวน 60 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ๆ ละ 20 คน อาสาสมัครกลุ่มที่ 1, 2 และ 3 จะได้รับยาหลอก สารสกัดใบหม่อนขนาด 1,050 มิลลิกรัม/วัน และ 2,100 มิลลิกรัม/วัน ตามลำดับ โดยใช้เครื่องมือในการตรวจประเมินการเรียนรู้และความจำ การประเมินอารมณ์ และการประเมินสมรรถภาพทางกายที่เป็นมาตรฐานและใช้กันอย่างแพร่หลายหลังจาก อาสาสมัครรับประทานสารสกัดครั้งแรก 30นาที วัดประเมินฟังก์ชันการเรียนรู้และความจำ
หลังจากนั้นให้อาสาสมัครรับประทานสารสกัดต่อไปตามตารางที่กำหนดจนครบ 3 เดือน ทุกๆ เดือนจะนัดอาสาสมัครมาตรวจประเมินผลต่อการเปลี่ยนแปลงฟังก์ชันการเรียนรู้ และความจำ สมรรถภาพ ทางกายและจิต การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนคอติซอลและการทำงานของระบบประสาทซิมแพทเททิค รวมทั้งติดตามความปลอดภัยของสารสกัดหม่อนในอาสาสมัครโดยการตรวจประเมินการเปลี่ยนแปลงทางโลหิตวิทยาและเคมีคลินิกทุกเดือน พบว่าการรับประทานสารสกัดใบหม่อนขนาด 1,050 และ 2,100 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน มีความปลอดภัย และมีศักยภาพในการที่จะทำให้ทั้งสมรรถภาพทางกายและจิตของอาสาสมัครดีขึ้น
สารสกัดใบหม่อนมีศักยภาพที่จะทำให้อาสาสมัครมีการทรงตัวได้ดีขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อต้นขามีความแข็งแรงมากขึ้น จึงมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงในการหกล้ม ทำให้อาสาสมัครมีการเรียนรู้และความจำชนิดความจำใช้งาน (working memory) เพิ่มขึ้น โดยทำให้สามารถให้ความสนใจต่อสิ่งเร้าเพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลในกระบวนการ ระยะต่าง ๆ ของความจำได้ดีมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพ ในกระบวนการบูรณาการข้อมูลในกระบวนการเรียนรู้และการจดจำ (cognitive processing)
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า สารสกัดใบหม่อนจึงเป็นประโยชน์ทั้งต่อกลุ่มผู้ที่มีปัญหาเรื่องความจำบกพร่องโดยตรง และกลุ่มเด็กที่มีปัญหาเรื่องความใส่ใจ (attention) นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์สารสกัดใบหม่อนยังมีฤทธิ์ในการลดกลุ่มอาการซึมเศร้าและกลุ่มอาการวิตกกังวลในอาสาสมัคร ทั้งนี้ประสิทธิผลของสารสกัดในการเพิ่มสมรรถภาพ ทางกายและจิต รวมถึงเพิ่มการเรียนรู้และความจำในอาสาสมัครขึ้นกับปริมาณหรือขนาดของสารสกัดที่ได้รับต่อวันและระยะเวลาที่อาสาสมัครบริโภคสารสกัด จึงมีศักยภาพในการนำไปประยุกต์ใช้ ในรูปผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพผู้สูงอายุทั้งในภาวะปกติเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ และนำไปใช้เสริมการรักษา (adjuvant therapy) ในหลายโรค เช่น ในกรณีที่มีความจำบกพร่อง กรณีซึมเศร้า หรือในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการแพทย์และสาธารณสุข และสามารถขยายผลสู่การผลิตเชิงพาณิชย์เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย
นางมาลี บรรจบ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า หม่อน (Morus alba Linn.) วงศ์ Moraceae เป็นสมุนไพรทั้งในการแพทย์แผนไทยและจีน จากการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองที่ผ่านมาพบว่า ใบหม่อนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดความบกพร่องในการเรียนรู้และความจำที่เกิดจากความบกพร่องของระบบประสาทโคลิเนอร์จิก (cholinergic) ที่จำลองภาวะความจำบกพร่องในภาวะสูงอายุ และโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) นอกจากนั้นใบหม่อนยังมีสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด ได้แก่ กลูโคส, วิตามิน A, B1, B12 และ C และจากการศึกษาความเป็นพิษ ในสัตว์ทดลองและความปลอดภัยในคน สารสกัดหม่อนในขนาดที่ใช้ในการรักษาก็ไม่ทำให้เกิดพิษ
ดังนั้นจึงมีมีศักยภาพสูงในการที่จะพัฒนาเป็นอาหารเสริมสุขภาพ เพื่อชะลอความเสื่อมของร่างกาย เพิ่มสมรรถภาพทางกายและจิตตลอดจนคุณภาพชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยสมุนไพร จึงได้จัดประชุมวิชาการเรื่อง “หม่อนรักษ์คุณภาพชีวิต ส่งเสริมเศรษฐกิจไทย” ในวันที่ 17 กันยายน 2553 ณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี เพื่อเผยแพร่คุณค่าของสมุนไพรหม่อนให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชน ได้หันมานิยมใช้ผลิตภัณฑ์เสริมคุณภาพจากสมุนไพรภายในประเทศ ทดแทนผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่คนไทยจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทย สนับสนุนนโยบายไทยเข้มแข็งของรัฐบาล
ที่มา: มติชนออนไลน์ 18-09-53