“ผักกูด” เป็นชื่อของผักชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูลเฟิร์นที่อยู่ในวงศ์ “Athyriaceae” ซึ่งมนุษย์สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้ และยังเป็นผักพื้นบ้านที่มีประโยชน์อีกด้วย โดยมีสรรพคุณแก้ไข้ตัวร้อน พิษอักเสบ บำรุงสายตา บำรุงโลหิต ความดันโลหิตสูง
เว็บไซต์วิชาการดอตคอม รายงานว่า ผักกูดเป็นพืชตระกูลเฟิร์นกินได้ชนิดหนึ่ง มีเหง้าสูงได้ 1 เมตร ใบเป็นแผงรูปขนนก ตอนอายุยังน้อยจะแตกเป็นรูปขนนกชั้นเดียวคู่ขนานกันไปตั้งแต่โคนใบถึงปลายใบ เมื่ออายุมากขึ้นใบจะเปลี่ยนเป็นรูปขนนก 2 ชั้น ยอดอ่อนและปลายยอดม้วนงอแบบก้นหอย เติบโตในฤดูฝนในที่โล่งแจ้งมีน้ำชื้นแฉะ จะพบมากกว่าที่ในป่าทึบ ผักกูดมี 3 ชนิด แตกต่างกันเพียงสีของต้นและลักษณะใบเล็กน้อย รับประทานเป็นอาหารได้ทั้ง 3 ชนิด ชาวบ้านรุ่นเก่าๆ รู้จักผักกูดมาตั้งแต่โบราณแล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่น้อยนักจะรู้จักและรู้จักรับประทาน มียอดอ่อนขายตามตลาดสดทั่วไป
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าผักกูดเป็นผักบอกสภาวะแวดล้อมให้คนรู้ว่า บริเวณไหนอากาศไม่ดี ดินไม่บริสุทธิ์ มีสารเคมีเจือปนอยู่ ผักกูดจะไม่ยอมขึ้นหรือแตกต้นในบริเวณนั้นเด็ดขาด ผักกูดจึงถือได้ว่าเป็นอาหารพิเศษอย่างหนึ่งจากธรรมชาติมีสารเบต้าแคโรทีนและธาตุเหล็กในตัวสูง เมื่อรับประทานแล้วจึงได้ประโยชน์
ใบของผักกูดใช้ต้มน้ำดื่มหรือกินสด ช่วยแก้ไข้ตัวร้อน แก้พิษอักเสบ บำรุงสายตา บำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง ป้องกันเลือดออกตามไรฟันและขับปัสสาวะเด็ดขาดมาก ลดความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเม็ดเลือด ส่วนใหญ่จะนำใบอ่อน ช่ออ่อน ทำแกงกับปลาเนื้ออ่อนน้ำจืด เช่นปลาช่อนหรือลวกจิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆ ยำผักกูด ผักกูดผัดน้ำมันหอย แกงกะทิกับปลาย่าง ลวกกะทิ แต่ไม่นิยมกินสดๆ กันเพราะจะมียางเป็นเมือกอยู่ที่ก้าน
ที่มา : 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7118 ข่าวสดรายวัน