ห้วงเวลาที่คนไทยส่วนหนึ่งยังตกอยู่ในสภาพเหมือนเพิ่งผ่านสมรภูมิรบทางใจ เชื่อว่ายังมีเหยื่อของเหตุการณ์อีกหลายคนจมอยู่กับความรู้สึกหดหู่ระคนเศร้า ผลพวงจากวันที่กรุงเทพฯ เกิดจลาจล
ไม่ว่าความรู้สึกหดหู่จากเหตุบาดเจ็บล้มตายของญาติสนิท หรือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ความสูญเสียในทรัพย์สิน แหล่งทำกิน หรือแม้แต่ทุนรอนที่บางคนอุตส่าห์เก็บหอมฯด้วยน้ำพักน้ำแรงมาทั้งชีวิต
บาดแผลทางใจข้างต้น แม้ฟากรัฐจะพยายามหาทางเยียวยาเหยื่อความสูญเสียด้วยสารพัดมาตรการ
เป็นต้นว่า ระดมจ่ายชดเชยแก่ผู้ประกอบการทุกรายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ หลังมีการเข้ากระชับพื้นที่สลายการชุมนุมฯ รายละ 5 หมื่นบาท
สั่งให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ปล่อยเงินกู้หมุนเวียนให้ผู้ประกอบการที่ต้องการกู้ไปลงทุนในวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยไม่มีการนำข้อมูลบัญชีดำของเครดิตบูโร (ลูกหนี้บางรายเคยกู้แล้วเบี้ยวหนี้จนถูกเครดิตบูโรขึ้นบัญชีดำไว้) มาพิจารณาและไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ ก็สามารถกู้ได้
ผู้ประกอบการรายที่ไม่มีหลักประกันสามารถทำเรื่องขอกู้ได้ในวงเงินรายละ 1 ล้านบาท โดยแบ่งเงินต้นเป็นสองส่วน ส่วนแรก 3 แสนบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0% หรือปลอดดอกฯ
หากยังไม่หนำใจสามารถขอกู้เพิ่มได้อีก 7 แสนฯ รวมเป็น 1 ล้านบาทเต็มวงเงิน คิดดอกเบี้ยเฉพาะ 7 แสนบาทหลัง ร้อยละ 3
ผู้ ประกอบการซึ่งมีหลักประกันยอมให้กู้ได้รายละไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 พร้อมปลอดระยะเวลาชำระคืนเงินต้น 2 ปี
แม้แต่ลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างหลังเกิดเหตุจลาจลมีสิทธิได้รับเงินชดเชยการว่างงานจากประกันสังคม เดือนละ 7,500 บาท บวกกับเงินก้อนที่รัฐบาลจ่ายสมทบให้อีก 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน
นี่แค่หนังตัวอย่าง “ปฏิบัติการซับน้ำตา” จากรัฐบาลมาร์ค ในวันที่พี่น้องร่วมชาติบางคนหัวใจร่ำไห้
อย่างไรก็ตาม คงไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่าแม้จะเอาใจกันถึงขั้นนี้ จู่ๆจะทำให้เหยื่อแห่งความสูญเสียทุกฝ่าย…หายตึงเครียดเป็นปลิดทิ้ง หรือเลิกจงเกลียดจงชังกันเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นนั้น คงเป็นไปได้ยากเพราะบาดแผลครั้งนี้ยังต้องใช้เวลา
ก่อนที่อารมณ์ร่วมของคนในชาติจะถูกปรับให้เข้าที่ เรามีข้อแนะนำเรียบง่ายที่คนส่วนใหญ่เคยใช้ได้ผล ประมวลมาให้ทดลองทำกัน เผื่อจะช่วยให้ใครบางคนที่ยังติดค้างอยู่กับบรรยากาศด้านลบ สามารถก้าวข้ามความรู้สึกหดหู่ เคร่งเครียด หรือจงเกลียดฯลงได้บ้าง
เริ่มจากข้อแนะนำแรก เมื่อใดที่คนเราตกอยู่ในความรู้สึกหดหู่หรือเคร่งเครียด การเลือกรับประทานอาหารบางชนิดสามารถช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดลงได้อย่างน่าอัศจรรย์
อาหารยอดนิยมใกล้ตัวที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้อย่างรวดเร็วและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างทั้งไทยและเทศมาช้านาน ได้แก่ ช็อกโกแลต โกโก้ร้อน น้ำมะตูม กล้วย นมสด และสลัดผัก
ทั้ง 6 เมนูที่ว่าล้วนเป็นที่ยอมรับของนักโภชนาการทั่วโลกการันตีกันว่า ถ้ารับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป มีคุณสมบัติช่วยลดอาการกระวนกระวาย คลายความเครียด แถมยังช่วยให้นอนหลับสบายขึ้น
นอกจากอาหารคลายเครียดยอดนิยมระดับโลก สมุนไพรไทยบางชนิด เช่น ยอ ใบขี้เหล็ก และ เสาวรส ก็ล้วนมีส่วนช่วยคลายเครียดได้อย่างน่าอัศจรรย์ไม่แพ้กัน
ยอ มีสรรพคุณบำรุงสมอง ช่วยในเรื่องการไหลเวียนของเส้นเลือดสมอง วิธีรับประทานก็ไม่ยุ่งยาก แค่นำลูกยอขนาดกำลังรับประทาน (ไม่สุกหรือดิบเกินไป) ฝานเป็นแว่นบางๆ ตากแดดให้แห้งสนิท แล้วนำไปแช่ในน้ำร้อน ชงดื่มเสมือนชา ช่วยให้คลายเครียดเป็นอย่างดี
ใบขี้เหล็ก เป็นสมุนไพรที่มีการวิจัยว่าอุดมไปด้วยสารบาราคอล ซึ่ง มีคุณสมบัติช่วยให้นอนหลับง่ายและถ่ายคล่อง เพราะมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ
สำหรับคนไทย การหาแกงซึ่งมีใบขี้เหล็กเป็นส่วนผสมมารับประทาน น่าจะเป็นการก้าวข้ามรสชาติความขมของใบไม้ชนิดนี้ได้อย่างสุนทรีกว่าการนำใบสดๆมาเคี้ยวเล่นหรือต้มดื่ม
เสาวรส หรือแพชชั่นฟรุ๊ต หากอยู่ในภูมิประเทศที่สามารถพอหาได้ ผ่านการวิจัยมาแล้วว่าเป็นอีกตัวเลือกที่สามารถนำส่วนของใบไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาชงดื่มแทนน้ำชา หรือไม่ก็อาจใช้ส่วนที่เป็นยอดอ่อนจิ้มรับประทานกับน้ำพริก ช่วยลดความเครียดได้ชงัดนัก
ได้อาหารกายใส่ท้อง บรรเทาอุณหภูมิความรู้สึกด้านลบกันไปแล้ว จะให้ดีมาหาอาหารใจช่วยเสริมกันอีกแรง
นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัติพิชัย จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ สุขุมวิท เคยให้ คำแนะนำไว้ว่า ช่วงที่จิตใจคนเรายังไม่สดใสและเข้มแข็ง คนเรามักจะอมทุกข์อยู่ ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม มีวิธีเอาชนะความทุกข์ด้วยวิธีสร้างความสุขที่ยั่งยืนอยู่ 5 ข้อ
ข้อแรก ผู้ที่ต้องการให้ตัวเองมีความสุข ต้องรู้จัก ปรับความคิด โดยให้คิดอยู่เสมอว่า ในโลกนี้ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ แต่ละคนล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมทั้งตัวเราเองก็เช่นกัน
ข้อสอง ต้องคิดเสมอว่าตัวเรามีคุณค่า และ มีประโยชน์ ให้พยายามรักษาข้อดี ปรับปรุงข้อเสียของตัวเอง พยายามลดจุดอ่อนข้อบกพร่อง และยอมรับในแบบที่ตัวเองเป็น
ถัดมา อย่าวิ่งหนีปัญหา หรือ คิดแต่จะเอาชนะผู้อื่น นำหน้า หรืออยู่เหนือผู้อื่นตลอดเวลา
คุณหมอบอกว่า เมื่อใดที่คนเราดิ้นรนแข่งขันหรือคิดเปรียบเทียบกับผู้อื่น จะทำให้ตัวเองไร้ความสุข ตรงกันข้ามเมื่อความต้องการแก่งแย่งแข่งขันลดน้อยลง จะทำให้ชีวิตคนเรามีความเรียบง่ายขึ้น เมื่อชีวิตเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ในที่สุดความสุขก็ตามมา
ข้อสี่ พยายามมองโลกในแง่บวกเข้าไว้ รู้จักให้อภัยผู้อื่น ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน
คุณหมอขยายความว่า แม้ข้อนี้เป็นเรื่องที่อาจทำได้ยาก (สำหรับบางคน) เพราะต้องอาศัยทั้งความรู้ความเข้าใจ แต่ก็ใช่ว่าเป็นเรื่องพ้นวิสัย
อย่างที่ผู้รู้บางท่านสอนไว้ ผู้ที่มองหาและมองเห็นแง่มุมที่สดใสในทุกสิ่ง แม้ในยามวิกฤติหรือจิตตกก็ยังมีความหวังเป็นพลังในการแก้ปัญหา คนประเภทนี้ถือว่าเป็นผู้มองโลกในแง่บวก
การที่คนเรามีความหวังเป็นพลังในการแก้ปัญหา หรือเห็นว่าปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม หัดฟังแต่เรื่องดีๆ พูดแต่เรื่องดีๆ เมื่อหมั่นมองหาเรื่องดีๆ ในที่สุดเราก็จะมองเห็นแต่เรื่องดีๆ
เมื่อคนเราเริ่มด้วยการเลือกฟั แต่เรื่องราว ข่าว หรือข้อมูลดีๆ มีประโยชน์ต่อชีวิต การงาน และสังคม รู้จักค้นหาเหตุการณ์น่ารักเล็กๆ ที่พบได้ในแต่ละวัน เก็บไปเล่าต่อให้คนอื่นฟัง
ใครทำตัวแบบนี้บ่อยเข้า ไม่นานก็จะเคยชินกับการชอบฟังแต่เรื่องดี ชอบเล่าแต่เรื่องดี ในที่สุดชีวิตจะค่อยๆเบิกบานและมีความสุข
นอกจากฝึกคิดในเชิงบวก ผู้รู้บางท่านบอกว่า การรู้จัก ทำดีทอกซ์ หรือ ล้างพิษความคิดแย่ๆ ของตัวเองออกเสียบ้า ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
โดยอาจเริ่มต้นด้วยวิธีง่ายๆ ให้สำรวจตัวเองว่ามีความคิ หรือพฤติกรรมในเชิงลบหรือไม่ เช่น ชอบพูดหรือทำให้คนรอบข้างรู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง หรือเจ็บใจ
การที่คนเราชอบพูด หรือทำให้คนรอบข้างเกิดความรู้สึกเช่นนั้นบ่อยๆจนเคยชิน ในที่สุดเมื่อเจอหน้าใครก็มักจะทำออกไปเองโดยอัตโนมัติ กลายเป็นผู้ที่มีความสุขอยู่บนความทุกข์ของผู้อื่น
ผู้ที่ประพฤติเช่นนี้ ในที่สุดก็จะทำให้ตัวเองเจ็บช้ำไปด้วยโดยไม่รู้ตัว
ดังนั้น ทางที่ดีควรหมั่นเตือนตัวเองด้วยการลด ละ เลิก หรือหัดดีทอกซ์ ความคิดแย่ๆของตัวเองออกเสียบ้าง
ข้อห้า ให้หมั่นฝึกฝนทบทวนปฏิบัติทั้ง 4 ข้อที่ว่ามา เพื่อเตือนสติตนเอง
คุณหมอไกรสิทธิ์บอกว่า หากหมั่นทำให้ครบทั้ง 5 ข้อ ในที่สุดโลกใบนี้ก็จะกลับมาน่าอยู่เหมือนเดิม.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 2 มิ.ย. 53