3 อดีตรัฐมนตรี จับมือธุรกิจเกษตรอินทรีย์ และเครือข่ายประชาสังคมหนุนรัฐบาลเดินหน้าให้การปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ ต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 อย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลและชุมชน ชี้ถ้าบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่เชื่อว่าพืชจีเอ็มโอไม่มีอันตรายต่อ สุขภาพและสิ่งแวดล้อมจริงทำไมต้องคัดค้านการประชาพิจารณ์ ด้าน อย.แจงถูกแอบอ้างชื่อ เพราะไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมแถลงคัดค้านรัฐบาล
วันนี้ (1 เม.ย.53) – อดีตผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ นักวิชาการ กลุ่มธุรกิจ องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรเกษตรกร อาทิ ศ.ระพี สาคริก อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวัลลภ พิชญ์พงศา นายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ได้ออกแถลงการณ์ สนับสนุนรัฐบาลที่กำหนดให้การปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 อย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมในการ อนุรักษ์บำรุงรักษา และได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวที่นำโดยสมาคม เทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของกลุ่มธุรกิจและผู้ต้องการส่งเสริมพืชจีเอ็มโอ ที่ประสงค์ให้การปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ ไม่ต้องผ่านกระบวนการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และการให้ความคิดเห็นขององค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 โดยอ้างว่าพืชจีเอ็มโอเป็นทางเลือกของเกษตรกรในการเลือกใช้เทคโนโลยี
ในถ้อยแถลงของเครือข่ายภาคประชาสังคมได้เน้นย้ำการปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิง พาณิชย์อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ฐานทรัพยากรชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร ทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน และอาจขยายกลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และปัญหาสุขภาวะโดยรวมในระยะยาวได้
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่าทางเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นหนึ่งในรายชื่อของผู้ร่วมแถลงคัดค้านรัฐบาลดังกล่าวตามการเสนอข่าว ของสื่อมวลชนนั้น ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง โดยชี้แจงว่าไม่ได้เข้าร่วมการประชุมหรือร่วมแถลงข่าวแต่อย่างใดทั้งสิ้น
อนึ่ง สื่อมวลชนสามารถร่วมรับฟังการประชาพิจารณ์ได้ที่โรงแรมเอเชีย ราชเทวี โดยเครือข่ายประชาสังคมจะไปร่วมแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่ง แวดล้อมด้วย อาทิ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เป็นต้น
ที่มา : มูลนิธิชีววิถี 04/01/2010