เสบียงเลี้ยง ม็อบแดง ปั้นจิ้มส้มตำปลาร้า

แม้ เสียงแกนนำคนเสื้อแดงนเวที จะปลุกเร้าให้คนฮึกเหิมอย่างไร ถ้าไม่มีหน่วยเสบียงเลี้ยงกระเพาะน้อยๆ ย่อมไม่มีพลังใดๆ ลุกขึ้นต่อสู้ได้

เพราะ กองทัพต้องเดินด้วยท้อง

ริม ถนนราชดำเนินกลาง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งศึกษาภัณฑ์ฯ หรือฝั่งตรงข้าม กลางแสงแดดจัดจ้าน อากาศแรงร้อน เหมือนจะเผาสรรพสิ่งให้มอดไหม้ คนเสื้อแดงอาศัยร่มไม้ข้างถนน และเงาตึกเหยียดยาวหลบร้อน

บ้างหลับอย่างเอาจริงเอาจัง บ้างพ่นยาเส้นควันโขมง บ้างอ่านหนังสือพิมพ์ อย่างสนอกสนใจข่าวสาร แต่ไม่น้อยนั่งทำกับข้าวอย่างขะมักเขม้น บางคน อาจไม่คาดฝันมาก่อนว่า ริมถนนราชดำเนิน รายรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะกลายเป็นที่หุงหาอาหารไปได้

“กินส้มตำด้วยกันก่อนจ้ะ” เสียงหนึ่งทักทาย พลางหยิบข้าวเหนียวปั้นน้อยๆจิ้มลงไปในแจ่วบอง แล้วใส่ปากเคี้ยวอย่างอารมณ์ดี เสียดายที่ไม่อาจถามว่า บรรยากาศรับประทานอาหารในม็อบกับกลางท้องทุ่งนา นั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

คนใกล้กันจิ้มก้อนข้าวเหนียวในถ้วย ปลาร้า ก่อนส่งเข้าปากเคี้ยว และไม่ลืมส่งเสียงเชื้อเชิญให้ร่วมรับประทานอาหารอย่างไมตรี กลิ่นปลาร้าอันหอมกรุ่น ประกอบกับข้าวเหนียวร้อนๆ แม้จะอิ่มข้าวมาแล้ว ก็เรียกน้ำย่อยออกมาอยู่ดี

หันไปดูใกล้ๆ วงอาหารริมทางเท้า หวดนึ่งข้าวเหนียวกำลังคายไอควันโขมง ส่งกลิ่นข้าวหอมกรุ่นมายั่วน้ำย่อยอีก คนเดินผ่านไปมาคงไม่ต่างกัน ยังมีมะละกอกองเขื่อง ถุงข้าวสาร พริก น้ำปลา พร้อมสรรพ มอง แล้วเหมือนชาวบ้านเตรียมจะไปอยู่หัวไร่ ปลายนา มากกว่าที่จะมาเรียกร้อง ประชาธิปไตย อย่างที่คนบนเวทีพูดปาวๆ

“สอง มาตรฐาน เราทนไม่ได้” เสียงหนึ่งเอ่ยขึ้น ขณะที่บนเวทีโห่รับคนเสื้อแดงที่ยังทยอยมาจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาสมทบอยู่คล้ายจะไม่ขาดสาย “เขามองเราเหมือนไม่ใช่คน เราก็คนไทยคนหนึ่ง แต่ทำไมเสียงของเราไม่มีค่า” อีกเสียงหนึ่งสอดประสานขึ้นมาบ้าง

หันไปทาง เสบียง “ป้าเอาข้าวสารใส่ถุงมา 6 ถุง อุปกรณ์หุงหาอาหารพร้อม ไม่ต้องไปซื้อกินที่ไหน เราไม่มีปัญหาหรอก เราคนจน” นางปรานีบอก

นาง ปรานี แก้วผิวอาจ อายุ 59 ปี บ้านอยู่ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น บอกเรื่องการลำเลียงเสียงของตนเอง และเพื่อนๆที่มาด้วยกันจำนวนไม่ปราณี น้อย ใกล้ๆนางปรานีมีเพื่อนๆ ของเธอปอกมะละกออย่างคล่องแคล่ว

เพื่อ เตรียมไว้สำหรับปรุงอาหารโปรด ให้คนที่ออกไปเย้วๆอยู่หน้าเวที

“ใคร จะเข้ามากิน เราก็ให้กิน เรามันคนจนเหมือนกัน ไม่หวงกันหรอก” นางปรานีบอก พลางอธิบายเรื่องการเตรียมเสบียงว่า ไม่ต้องกลัวหมดหรอก ถ้าข้าวสารที่เอามาหมด เราก็จะให้คนทางบ้านนำมาส่งให้อีก ส่วนพวกมะละกอ พริก เราหาซื้อเอาในตลาดได้”

บางเสียงกระซิบว่า มะละกอ พริกสด รวมทั้งวัสดุปรุงอาหารอื่นๆ มีแม่ค้าใจสีแดงให้มาฟรีๆก็ไม่น้อย

โดย เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อขบวนเคลื่อนผ่านตลาดขายพืชผักอย่าง ตลาดนวนคร ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง เป็นต้น

เมื่อถามว่า เตรียมตัวมาสู้กี่วัน นางปรานีบอกอย่างมาดมั่นว่า “ถ้าไม่ชนะ เราก็ไม่กลับ”

เมนูเด็ดของ ชาวม็อบ นางปรานีบอกว่า ส้มตำดีที่สุด เพราะทำง่าย ไม่ต้องใช้เครื่องปรุงอะไรมากมายนัก แถมเป็นอาหารที่ถูกปากของคนถิ่นแถวบ้านของนางอีกด้วย และที่สำคัญ ส้มตำจะขาดปลาร้าไม่ได้ เพราะมันจะไม่อร่อย

ส่วนจะใช้ปลาร้าเป็น อาวุธด้วยหรือไม่นั้น แม้นางปรานีจะไม่ตอบคำถาม เราก็คงคาดเดาได้จากเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมาอยู่แล้ว

เดินฝ่าลมร้อน ริมถนนราชดำเนินยามตะวันจ้าแสง พระสงฆ์หลายร้อยรูปเดินเท้าเปล่าผ่านมา ถือป้ายมีข้อความว่า ขอบิณฑบาตความรุนแรง ไม่ทราบเหมือนกันว่า หลังจากกลับวัดไปแล้ว พระภิกษุแต่ละรูปต้องรักษาอาการเท้าพองหรือไม่

เรื่องพระสงฆ์ กับการเมือง เป็นเรื่องเกี่ยวเกาะกันมาตั้งแต่สมัยเก่าก่อน ไม่ว่าจะเป็นสมัยพระอาจารย์ธรรมโชติ แห่งบ้านบางระจัน และพระอาจารย์ อื่นๆอีกมากมาย มองไปประเทศเพื่อนบ้าน พระภิกษุสงฆ์พม่าก็ใช่จะน้อยหน้าเสียที่ไหน

ริมถนนราชดำเนิน ยังมีคนปรุงอาหารกินเองเป็นจุดๆ เดินเข้าไปดูคนที่กำลังปั้นจิ้มกันอย่างออกรส

เราเตรียมอุปกรณ์มา พร้อม ไม่ใช่เฉพาะแต่เรากินเอง คนอื่นๆ ก็เข้ามากินได้ เราใจดวงเดียวกันอยู่แล้ว นางดวงเดือนบอก

นางดวงเดือน อายุ 60 ปี บ้านอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม บอกถึงการเตรียมเสบียง และบอกว่าเตรียมมาไม่ต่ำกว่า 5 วัน ถ้าหมดก็ไปซื้อใหม่ในตลาด แต่ปลาร้า ข้าวสารให้คนทางบ้านมาส่งให้ใหม่

แสดงว่า ม็อบครั้งนี้ แม้จะยืดยาวอย่างไร เสบียงก็ไม่มีวันขาดไปได้ง่ายๆ เพราะยังมีท่อน้ำเลี้ยงที่แท้จริงจากทางบ้านส่งมาให้

นอกจากเสบียง ที่นำมาเองแล้ว เสบียงของคนเสื้อแดงยังไหลมาจากสายอื่นๆอีก เป็นต้นว่า แกนนำกลุ่มต่างๆ รับบริจาคมา แล้วหาแม่ครัวมาหุงหาอาหารเอง เพื่อแจกจ่ายให้กับคนในกลุ่ม
ดวงเดือน
สำหรับม็อบจากภาคกลาง เนื่องจากอาหารหลักคือน้ำพริก เพราะน้ำพริกแม่ๆ ต่างผลิตสำเร็จรูปมาขายมากมาย แม่ครัวเลยสบายไป แต่ถึงกระนั้น อาหารปรุงสดๆ อย่างผัดถั่วฝักยาว ผัดพริกแกงหมู ไก่ ก็นำอุปกรณ์ มาทำกันสดๆเหมือนกัน

ดู ท่าทางทะมัดทะแมงแม่ครัวแล้ว เหมือนหลุดเข้าไปในงานบวช หรืองานแต่งงานอย่างไรก็อย่างนั้น

ครัวชั่วคราวของชาวม็อบ นอกจากที่ริมถนนราชดำเนินกลางแล้ว ยังมีหนาแน่นที่ริมถนนราชดำเนินนอก เวลาอาหารทั้ง 3 มื้อ ถ้าผ่านไปจะเห็นคนยืนเรียงแถว รอรับอาหารกันหนาตา

นอก จาก นี้ ยังมีข้าวกล่อง สั่งตรงจากร้านอาหารต่างๆ เมื่อถึงเวลา รถกระบะก็จะนำเข้ามาแจกจ่ายให้กินกันอย่างถ้วนหน้า โดยไม่ต้องถามกันว่า ใครมาจากไหน

ส่วนน้ำดื่มมีกระจายเป็นจุดๆ ใครใคร่ดื่มก็หยิบเอาไปได้เลย

คนที่พอมีงบประมาณ หรือไม่ต้องการของฟรี เนื่องจากของฟรีบางอย่างก็ไม่ปลอดภัย อย่างเช่นลูกอม มีคนมาแจกให้กับคนเสื้อแดงเพื่ออมคลายร้อน แต่เดี๋ยวเดียวก็ต้องหามส่งโรงพยาบาล

สร้างความหวั่นกลัวไม่น้อย

เรื่อง ข้าวปลาอาหาร อีกทางเลือกหนึ่งของชาวม็อบก็คือ ร้านค้าริมถนน หน่วยรักษาความปลอดภัยของคนเสื้อแดงอนุญาตให้เข้ามาขายได้อย่างอิสระ ทั้งอาหารและน้ำดื่ม

ข้าวแกงในม็อบเริ่มที่ราคาจานละ 25 บาท ก๋วยเตี๋ยวชามละ 25-30 บาท น้ำดื่มแก้วละ 10 บาท เรื่อยไปจนถึง 20 บาท ขึ้นอยู่กับว่าต้องการน้ำที่มีส่วนผสมอย่างไร

แต่น้ำดื่มสะอาด ไม่แช่เย็น ไม่จำเป็นต้องซื้อ เพราะคนเสื้อแดงมาวางกระจายไว้ตามจุดต่างๆให้ดื่มกันฟรีๆ

เสบียง เลี้ยงม็อบแดง ที่เห็นและเป็นอยู่ เมนูหลักคือ ส้มตำปลาร้า และที่ไม่เห็นนั้นมีหรือไม่ ไม่อาจบอกได้จริงๆ

บอกได้แต่เพียงว่า กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ส่วนแพ้ชนะนั้นเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ของขุนพล.

ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ 17 มีนาคม 2553, 11:00 น.