อาหารและสงคราม-เล่าเรื่องการกินของคนในยามสงคราม

กองทัพต้องเดินด้วยท้อง เงินทองคือมายา-ข้าวปลาคือของจริง ยังคงเป็นวาทะที่ยังใช้ได้ดีเสมอทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามที่มักเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร ข้าวยากหมากแพง บางครั้งมีเงินแต่ไม่สามารถหาอาหารมาประทังชีวิต ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงภัยธรรมชาติที่มักถาโถมมาพร้อม ๆ กับสงคราม  วิกฤติและการต่อสู้ดิ้นรนของผู้คนจึงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย  สมัยสงครามโลกครั้งที่สองน่าจะเป็นช่วงเวลาเดือดร้อนแสนสาหัส เพราะนอกจากภัยสงครามแล้ว ผู้คนในที่ต่างๆ ยังประสบกับภัยน้ำท่วม นาล่ม อาหารไม่พอกิน และภาวะอดอยากหิวโหย อีกด้วย นายชีวสิทธิ์  บุญยเกียรติ์ นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  เล่าว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้จัดนิทรรศการ “ย้อนยุค ข้าวยากหมากแพง” โดยนิทรรศการดังกล่าวได้เล่าถึงสาเหตุความอดอยากของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงการช่วยเหลือจากทางการและการปรับตัวของผู้คนให้มีชีวิตรอดอย่างมีความหวัง

ยามสงครามชาวบ้านต้องประทังชีวิตด้วยการขุดเผือก มัน หน่อไม้ ขุยไผ่ มากินแทนข้าว หรือหุงกับรวมกับข้าว  นอกจากนี้ความขาดแคลนทำให้ต้องประดิษฐ์และค้นหาสิ่งใหม่ทดแทน เช่น การใช้ใยสำปะรดแทนด้าย ใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันก๊าด หรือในยามน้ำท่วมซึ่งทำให้การประกอบอาหารเป็นไปได้อย่างลำบากจึงได้คิดค้นวิธีปรุงอาหารง่าย ๆ เช่น แกงจืดนอกหม้อที่ปรุงได้ในชาม หรือทำอาหารที่เก็บไว้กินได้นาน เช่น ปลาทูต้มเค็ม เป็นต้น

แนวคิดการจัดนิทรรศการในข้างต้นจะถูกนำมาเสนอใหม่อีกครั้งในรูปแบบของเสวนาโต๊ะกลมภายใต้ชื่อ “อาหารและสงคราม-เล่าเรื่องการกินของผู้คนในยามสงคราม” ซึ่งได้รับเกียรติร่วมสนทนาจากคุณ Wong Hong Suen  ผู้เขียนหนังสือ wartime kitchen ที่อธิบายถึงปัญหาการขาดแคลนอาหารในระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่สองในสิงคโปร์ และผศ.ดร.มณธิรา ราโท ซึ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสงครามและความหิวในสังคมเวียดนาม ผ่านงานวรรณกรรมของ “นามกาว”  ซึ่งระบุว่าสิ่งที่เคียงคู่ไปกับภาวะสงครามก็คือ ภาพของความอดอยาก แร้นแค้น และหิวโหยของผู้คน

ในประเทศเวียดนาม  สงครามโลกครั้งที่สองและสงครามมหาเอเชียบูรพาได้ส่งผลให้ประชากรต้องเสียชีวิตจากความอดอยากหิวโหยประมาณสองล้านคน ชาวบ้านที่นั่นต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มีชีวิตรอด กินทุกอย่างที่ไม่เคยกิน ไม่ว่าจะเป็นรากไม้ เปลือกไม้ หญ้า วัชพืช ดิน หรือแม้แต่กินเนื้อมนุษย์  ขณะที่ความหิวโหยได้เข้ามาสั่นคลอนความคิดเรื่องจริยธรรมและคุณธรรมของผู้คน ทำให้เกิดปัญหาลักขโมย บางคนต้องขายลูกหรือทิ้งลูกตามเมืองใหญ่ ตามถนนในเมืองใหญ่ๆ เช่น ฮานอย ไฮฟอง ปรากฏพบโครงกระดูกหรือภาพของผู้คนที่มีร่างกายซูบผอมยืนเปลือยกายตามกำแพงเพื่อรอความตาย ซึ่งในแต่ละวันจะมีเจ้าหน้าที่มาเก็บซากศพตามถนนไปทิ้งย่านชานเมือง

อย่างไรก็ตามหากมองอีกด้านหนึ่ง  การเผชิญกับภัยสงครามไม่ว่าจะในประเทศไทย เวียดนาม หรือสิงคโปร์  เรายังคงพบว่าท่ามกลางการดิ้นรนเอาตัวรอดตามสัญชาติญาณของมนุษย์ ยังคงมีการรวมพลังต่อสู้ ฝ่าฝันกับวิกฤติที่นับเป็น “ชะตากรรมร่วม” ปรากฏอยู่

ในกรณีประเทศเวียดนาม ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่ชัยชนะของขบวนการคอมมิวนิสต์นั้น เป็นเพราะพรรคคอมมิวนิสต์เป็นกลุ่มการเมืองเดียวในขณะนั้นที่ตอบสนองต่อปัญหาความอดอยากของประชาชน เช่น การนำกองกำลังเวียดมินห์เข้าบุกยึดโกดังเก็บข้าวของญี่ปุ่น มีกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เพื่อต่อสู้กับความหิวโหย อาทิ การแบ่งปันข้าวและเสื้อผ้า  การรณรงค์เพื่อให้ประชาชนอดข้าวบางมื้อเพื่อนำข้าวที่ได้ไปช่วยเหลือคนยากจน  พร้อมกับปลุกใจให้ประชาชนร่วมกันต่อสู้กับความอดอยากหิวโหย  ดังที่โฮจิมินห์เคยกล่าวไว้ว่า “ความอดอยากไม่ได้อันตรายน้อยกว่าสงคราม… …การต่อสู้กับความอดอยากก็เหมือนกับการต่อสู้กับศัตรูต่างชาติที่เราจะชนะได้อย่างแน่นอน…”

แน่นอน สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงแล้ว แต่ในปัจจุบันเรายังต้องผจญกับสงครามการค้าและการเมืองอย่างไม่หยุดยั้ง  การเกิดขึ้นของวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติแฮมเบอร์ และการผันผวนของราคาน้ำมัน ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เราเข้าสู่สภาวะข้าวยากหมากแพง “ล่องหน” ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงและบีบคั้นมากขึ้นทุกขณะ  การเรียนรู้และทำความเข้าใจในวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างหนทางรับมือและแก้ไขวิกฤติการณ์ในปัจจุบัน

อย่างน้อย เราคงได้เรียนรู้ว่า แม้ในยามที่เลวร้ายที่สุด มนุษย์มิเคยสิ้นหวัง…

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวงเสวนาโต๊ะกลมเรื่องอาหารยามสงครามฯ อันเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่หลากหลายของการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยา ซึ่งจัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sac.or.th หรือ ติดต่อคุณ ศิวัช นนทะวงษ์ 0-28809429 ต่อ 3811