ครัวไทยสู่ครัวโลก: ความจริงหรือขายฝัน

ความเฟื่องฟูด้านทรัพยากรอาหารของไทยเป็นที่เลื่องลือระบือไกลมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล แม้แต่ในบันทึกของชาวต่างชาติทั้งพ่อค้าวาณิชและหมอสอนศาสนา ผู้เคยย่างเหยียบผืนแผ่นดินแห่งนี้ ก็ยังพรรณนาถึงความมั่งคั่งเหล่านี้ไว้ บนดินแดนกว่า 5 แสนตารางกิโลเมตรของสยามประเทศ มีดินปากแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ ห่างไกลจากธรรมชาติวิปโยค และเกษตรกรรมก็เปรียบเสมือนชีวิตและจิตวิญญาณของผู้คน   ปัจจัยเหล่านี้เอื้ออำนวยให้พืชพรรณธัญญาหารกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยมาทุกยุคสมัย โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หรือมากกว่าสองร้อยปีมาแล้ว


หลังรอดพ้นเงื้อมมือมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคม   ไทยก็เบนเข็มสู่การพัฒนาประเทศตามแบบอย่างชาติตะวันตก  โดยประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2504 โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การปฏิรูปการเกษตร  ซึ่งเป็นการพลิกโฉมวงการเกษตรของประเทศครั้งใหญ่ ทั้งด้านการชลประทาน  วิทยาศาสตร์การเกษตร การผลิตและการแปรรูปอาหาร เช่น การปลูกข้าวพันธุ์ปรับปรุง การเกษตรเชิงเดี่ยว (Mono Cropping) การใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช รวมไปถึงการเร่งรัดกิจการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และการปศุสัตว์


ความสำเร็จของการปฏิรูปเกษตรในครั้งนั้น ส่งผลให้ไทยเพิ่มผลผลิตได้มหาศาลจนกลายมาเป็นผู้ส่งออกอาหารชั้นแนวหน้าของโลก นำเงินตราเข้าประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสัน


ปัจจุบันไทยคือผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกด้วยปริมาณปีละร่วม 10 ล้านตัน ทั้งยังเป็นผู้ส่งออกกุ้งและเนื้อไก่อันดับหนึ่งและห้าของโลกตามลำดับ  ยังไม่รวมถึงผักผลไม้นานาชนิดที่ไทยส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน


ความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่งผลให้รัฐบาลในยุคหนึ่งถึงกับเสนอนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” และกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่ง  ประกอบกับวิกฤติอาหารโลกที่อุบัติขึ้นในช่วงกลางปี 2551


ได้กลายเป็นโอกาสที่ไทยอาจสวมบทพระเอกขี่ม้าขาวเพื่อช่วยบรรเทาวิกฤติ และฉกฉวยความมั่งคั่งมาสู่ประเทศชาติได้

ทุกอย่างฟังดูสวยหรูและง่ายดายเช่นนั้นเชียวหรือ


ผลพวงของการเร่งรัดพัฒนาประเทศในยุคที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรับเอากระบวนการผลิตอาหารเชิงอุตสาหกรรมจากตะวันตกมาใช้ หรือที่เรียกว่าการปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ได้ฝากบาดแผลไว้บนดินแดนแห่งนี้มากมาย แม้ว่าในระยะแรกจะสร้างความฮือฮาให้กับวงการเกษตร เช่น ผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (ก่อนจะค่อยๆ ถึงจุดอิ่มตัวและลดลงในหลายพื้นที่ เนื่องจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรอย่างดินและน้ำ)


ทว่าการปฏิวัติเขียวกลับกลายเป็นเป้าโจมตีของบรรดาผู้ต่อต้านถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น อาทิ สารเคมีที่ตกค้างในผลผลิต ระดับน้ำใต้ดินที่ลดฮวบฮาบ หนี้สินพะรุงพะรัง และการเสพติดเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรชนิดถอนตัวไม่ขึ้นของเกษตรกรไทย (เห็นได้จากตัวเลขการบริโภคเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรที่พุ่งทะยาน


เทียบกับปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นแต่เพียงช่วงแรกเท่านั้น)  นอกจากนี้ โรคและแมลงศัตรูพืชยังมีแนวโน้มระบาดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ


อดุลย์ เราะหมุด ผู้รับจ้างพ่นยาฆ่าแมลงในย่านบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทราเล่าให้ผมฟังว่า

“ยาสมัยนี้ดีจริงๆ นะครับ  เชื่อไหมว่าวันก่อนตอนผมกำลังฉีดยา มีนกโฉบมากินข้าว นกตายต่อหน้าต่อตาผมเลย แต่คนไม่ยักเป็นอะไร” อดุลย์เล่า


ขณะยาเคมีสีน้ำเงินเข้มฟองฟอดล้นออกมาจากถัง แม้ว่าวันนี้ยาฆ่าแมลงยังทำอันตรายอดุลย์ไม่ได้


แต่รายงานของกรมอนามัยเมื่อปี พ.ศ. 2541 กลับพบว่า มีเกษตรกรที่ผลการตรวจเลือดอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงต่อการเกิดโรคจากสารพิษถึง 77,789 ราย จากเกษตรกรที่เข้ารับการตรวจเลือด 369,573 ราย ขณะเดียวกันสารเคมีทางการเกษตรได้กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง  ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส  ถึงกับขนานนามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “แผ่นดินอาบยาพิษ”


ในเวลาเดียวกับที่ความหิวโหย กำลังโจมตีมนุษยชาติอยู่นั้น  วิกฤติพลังงานได้เข้ามาซ้ำเติมราวกับผีซ้ำด้ำพลอย เมื่อพืชน้ำมัน (fuel crop) เปิดศึกแย่งชิงพื้นที่เพาะปลูกกับพืชอาหาร  ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดอย่างหนึ่งคงไม่พ้นปาล์มน้ำมัน  ซึ่งกลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจยอดนิยมทางภาคใต้ของไทย ได้เข้ามาสอดแทรกแย่งชิงพื้นที่ปลูกข้าวแต่ดั้งเดิม ด้วยคุณสมบัติทนทายาด เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่อเนื่องและขายได้ราคาขายดี  เพียงเท่านี้ก็พอที่จะทำให้เกษตรกรละทิ้งไร่นาและหันมาจับเหล็กแทงทะลายปาล์มแทน


ยังไม่นับนโยบายยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของทางการซึ่งมีแนวคิดเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานชนิดนี้อีกกว่า 3.97 ล้านไร่ สร้างความวิตกกังวลให้กับบรรดานักอนุรักษ์ว่า พื้นที่เหล่านั้นอาจรุกเข้าไปในแหล่งป่าไม้ธรรมชาติและพื้นที่ปลูกพืชอาหาร จนอาจซ้ำรอยวิกฤติอาหารอีกครั้ง


ชอง ซีกเลอร์ ผู้ตรวจการด้านสิทธิทางอาหารของสหประชาชาติเคยออกมาเตือนอย่างเผ็ดร้อนว่า

“การเปลี่ยนที่ดินเกษตรกรรมเพื่อนำไปปลูกพืชที่จะเอาไปเผาสำหรับน้ำมัน ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”


อย่างไรก็ตาม แสงสว่างที่ปลายทางอุโมงค์ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนพืชอาหารและพืชพลังงาน อาจอยู่ที่วิทยาการสมัยใหม่ที่พร้อมเข้ามาจัดการเพิ่มผลผลิตโดยไม่ต้องเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก


สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร บอกว่า  นอกจากการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นแล้ว ในอนาคตข้างหน้าเกษตรกรจะต้องเลือกพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตตรงตามวัตถุประสงค์การปลูก


(เช่น มันสำปะหลังเพื่อเป็นพืชอาหาร หรือเพื่อนำไปผลิตเอทานอล เป็นต้น) เพราะพืชเหล่านั้นจะได้รับการปรับปรุงพันธุ์จนได้สายพันธุ์เฉพาะทาง


ทว่าในเมืองเกษตรอย่างไทย ประเด็นที่ถกเถียงกันได้อย่างเผ็ดร้อนที่สุดคงไม่พ้นพันธุวิศวกรรม


(genetic engineering) และพืชดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) ซึ่งหลายฝ่ายโดยเฉพาะนักวิจัยและภาครัฐมองว่า จะเป็นความหวังใหม่ในการช่วยเพิ่มผลผลิตอาหารได้เท่าตัว ลดการใช้เคมีภัณฑ์ทางการเกษตร


และเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความมั่นคง (และมั่งคั่ง) ด้านอาหาร


แต่สำหรับบรรดานักอนุรักษ์แล้ว พวกเขากลับมองว่าจีเอ็มโออาจซ้ำรอยความล้มเหลวของการปฏิวัติเขียว


พวกเขาโจมตีพืชจีเอ็มโอว่าผูกติดกับธุรกิจเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างแยกไม่ออก โดยเฉพาะยากำจัดวัชพืช ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเช่นกัน


ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังวิตกกับการเพิ่มขึ้นของประชากร และความหิวโหยที่อาจซ้ำเติมผู้คนมากกว่าพันล้านคนในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า  นักคิดบางฝ่ายกลับเชื่อว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรเป็นเพียงมายาคติที่ระบบทุนสร้างขึ้นเพื่อครอบงำฐานการผลิตอาหารอย่างเบ็ดเสร็จ


วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี บอกว่า  ขณะนี้อาหารที่โลกผลิตได้เกินความต้องการมากกว่าร้อยละ 50 มีแต่ปัญหาการบริโภคล้นเกินของผู้มีอันจะกินและการเข้าไม่ถึงอาหารของคนยากจนมากกว่า


การตั้งเป้าเป็น “ครัวของโลก” ส่งผลให้ไทยจำเป็นต้องเดินหน้าเร่งผลิตอาหารเพื่อป้อนโลก ซึ่งมีความต้องการอย่างไร้ที่สิ้นสุด แม้ว่านั่นอาจเป็นการทำลายฐานทรัพยากรเดิมอย่างน่าวิตก


ผลกระทบจากการปฏิวัติเขียวในยุคที่ผ่านมา เป็นบทเรียนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าแนวทางการพัฒนาประเทศในรูปแบบที่ไม่คำนึงถึงความสมดุลทางทรัพยากรเดิม  คืออันตรายและเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเองอย่างไม่รู้ตัว  ขณะที่ความนิยมด้านพืชพลังงานและเทคโนโลยีใหม่อย่าง พันธุวิศวกรรมก็กำลังเข้ามาท้าทายความคิดของแต่ละฝ่าย ทั้งผู้กุมอำนาจบริหารประเทศและผู้ที่เฝ้าจับตามองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น


ทางออกหนึ่งที่เริ่มมีคนพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การปรับกระบวนทัศน์ด้านการผลิตอาหารมาสู่พึ่งพาตนเอง ทั้งทรัพยากรท้องถิ่น ภูมิปัญญาดั้งเดิม และการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การพึ่งพาตนเองโดยกระจายฐานการผลิตให้หลากหลาย ดูจะเป็นคำตอบสุดท้ายของความมั่นคงทางด้านอาหารในอนาคต


มากกว่าการผูกขาดฐานการผลิตอยู่ที่กลุ่มทุนใหญ่ๆ แค่ไม่กี่ราย


ซึ่งแม้แต่นโยบายของรัฐบาลในยุคหลังๆ เองก็คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้  ทั้งการพึ่งพาตนเองและการคำนึงถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อม

อย่างน้อยก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น

ที่มา :  ไทยโพสต์  13 กุมภาพันธ์ 2553

 

Relate Post