“ถ้าใช้มือจับเราไม่ว่า แต่นี่มาโพงเราไม่ยอม” สมยศเสียงแข็ง
สมยศ ภู่ระหงษ์ อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 113 หมู่ 3 ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี หนึ่งในคนต่อต้านการมาจับหอยของชาวบ้าน ตำบลคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม และชุมชนอื่นๆ ที่มาจับลูกหอยแครงในอ่าวบ้านแหลม
เมื่อ คนถิ่นอื่นเข้ามาจับ เจ้าถิ่นจึงรวมตัวกันต่อต้าน โดยอาศัยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ประมง ชาวบ้าน อาวุธสำคัญของชาวบ้านแหลมคือ ประกาศของจังหวัดเพชรบุรี เรื่องกำหนดห้ามทำการประมงหอยสองฝา
การผลักดันของเจ้าหน้าที่ราชการ และชาวบ้านที่เข้ามาจับหอยที่อ่าวบ้านแหลม ทำให้มีการกระทบกระทั่งกัน กลายเป็นศึก “ชิงหอยแครง” มาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม
“ผมใช้มือเก็บ และเก็บตัวขนาดตั้งแต่ 6 มิลลิเมตรขึ้นไป ไม่ได้โพง*”
สมยศยืนยันและบอกว่า ยึดอาชีพเก็บหอยขายมาตั้งแต่อายุ 21 ปี รายได้แต่ละวันเริ่มจาก 200 บาทเรื่อยไปจนถึงประมาณ 300 บาท
” ผมไม่เคยไปเก็บที่อื่น เครื่องมือผมมีแค่ใช้กระดานเลนวางลงไป แล้วเลื่อนไปเรื่อยๆ ใช้มือเก็บเอา ถ้าเขามาเก็บแล้วใช้มือผมไม่ว่าหรอก ต้องทำให้เหมือนกันสิ คนแถวบ้านผมเก็บหอยขนาด 6 มิลลิเมตรขึ้นไปเท่านั้น ไม่เก็บตัวเล็กลงมาหรอก” สมยศยืนยัน
และบอกว่า “หอยเล็กๆ 1 กิโลกรัม จะมีประมาณ 10,000 ตัว มันเล็กเกินไปครับ จับไปอย่างนี้เท่ากับตัดวงจรหอย”
การถีบกระดานเลนเก็บหอยแครงนี้ นายผิน อ้นเปี่ยม อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 155/1 หมู่ 10 ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม เป็นอีกคนหนึ่งที่ยืนยันว่า ชาวบ้านแหลมใช้วิธีถีบกระดานเก็บเท่านั้น ไม่ได้ใช้วิธีการอื่นๆ
“ผมมายึดอาชีพนี้ตั้งแต่ไล่ทหาร (อายุ 21 ปี) ตอนนี้อายุกว่า 60 แล้ว ทำมาตั้งกว่า 40 ปี รายได้วันหนึ่งตั้งแต่ 100 บาทเรื่อยไปจนถึง 300 บาท ได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับน้ำแห้งมากแห้งน้อย ถ้าแห้งมากก็จะได้มาก เพราะพื้นที่เก็บเยอะ” นายผินบอก
“ถ้าเขาเก็บเหมือนเรา ทำเหมือนเราละก็เข้ามาจับเลย เราไม่ว่าหรอก ไม่มีการหวงห้าม แต่นี่เขามาจับเอาตัวเล็กๆไป” ผู้ใหญ่จรรยงบอก
ผู้ใหญ่จรรยง พิทักษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม หนึ่งในผู้นำต่อต้านการเข้ามาจับหอยแครงของชาวบ้านถิ่นอื่นๆ
การ กำหนดมาตรการดูแล ผู้ใหญ่บอกว่า เราให้เจ้าหน้าที่จัดการไปก่อน ให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศของจังหวัด ถ้าใครทำผิดก็ต้องดำเนินไปตามกฎหมาย ประกาศของจังหวัดเพชรบุรีนั้น ออกเมื่อ พ.ศ.2551 สมัยผู้ว่าการการจังหวัด ชื่อนายสยุมพร ลิ่มไทย
เนื้อหา สำคัญคือ 1. ห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงทุกชนิด ทำการประมงหอยสองฝาในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลตำบลบ้านแหลม ตำบลบางขุนไทร และตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม ยกเว้นการทำประมงหอยสองฝาด้วยวิธีการจับหรือเก็บด้วยมือเท่านั้น
2. ประกาศนี้มิได้ใช้บังคับแก่การทำการประมงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง และ 3. ประกาศนี้เมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว ให้ยกเลิกประกาศอื่นที่มีข้อความขัดแย้งกับประกาศนี้ ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2551
พื้นที่ห้ามในประกาศ หมายถึงพื้นที่ชายทะเล ตั้งแต่อ่าวบ้าน-แหลม ต.บ้านแหลม ลากยาวขนานทะเลไปจนถึงอ่าวปากทะเล ตำบลปากทะเล ใครจะมาจับหอยในพื้นที่เหล่านี้ ต้องใช้มือจับเท่านั้น ถ้ามีอุปกรณ์ช่วยจับใดๆ ถือว่าผิดกฎหมายทั้งสิ้น
ถ้าฝ่าฝืนจะถูกจับและปรับคนละ 4,000 บาท และค่าจับอีก 1,000 บาท อย่างที่ชาวคลองโคน จังหวัดสมุทรสงครามถูกจับและเสียค่าปรับไปแล้ว
ผู้ ใหญ่จรรยงบอกว่า การห้ามเป็นเรื่องยาก “เพราะเขาไม่เคารพกติกาของบ้านเมือง เขามาเป็นม็อบตลอด ทุกครั้งเขาอยู่เหนือกฎหมายกันไปเสียหมด ถ้าเคารพกติกาของชุมชนเรา จะมาเก็บมาจับเอาไปเท่าไรก็ได้”
สาเหตุที่ต้องเก็บหอยไว้ “เพราะเราต้องการอนุรักษ์ไว้เพื่อลูกเพื่อหลานของเรารุ่นต่อๆไป…”
ผู้ใหญ่ ยังเปรยเรื่องทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลว่า “นับจากแม่กลองมาถึงบ้านแหลม คุณลองไปดูสิ เขาให้สัมปทานใช้พื้นที่ชายทะเลกันหมด มีคอกหอยเต็มไปหมด เหลือพื้นที่ของเราที่บ้านแหลมที่เดียวที่เราไม่ยอมให้มีคอกหอย เมื่อหอยมาเกิดที่นี่ก็เลยเกิดปัญหาที่นี่”
พลางยืนยันเสียงแข็งว่า “พื้นที่นี้เป็นตายอย่างไรเราก็ไม่ให้หรอก เราไม่ทำ เพราะเราต้องการอนุรักษ์ไว้ คนเก็บหอยบ้านเราก็ไม่ได้ร่ำรวย พอกิน พอใช้ไปวันๆ แต่ชาวบ้านรักเพราะเป็นอาชีพอิสระ ออกไปหาหอยกลับมาอย่างไรก็มีกินแน่ๆ ขอให้ขยันอย่างเดียว” ผู้ใหญ่พิทักษ์บอก
พื้นที่เกิดหอยของอ่าวบ้านแหลม นายพัทยา เกษมรุ่ง อายุ 45 ปี บ้านเลขที่ 105/1 หมู่ 10 ต.บางขุนไทรบอกว่า อ่าวบ้านแหลมเป็นแหล่งพันธุ์หอยธรรมชาติที่ชุกชุมมาก อาจจะเป็นแหล่งเดียวของโลก
เพราะความอุดมสมบูรณ์นี้ ชาวบ้านจึงหวงแหนและเก็บหอยไป “ส่วนคนแม่กลองเขามาช้อนไปใส่คอก เขามีคอกเป็นส่วนตัวของเขา แต่พวกเราไม่มีคอก แค่จับหอยขายไปวันๆ และยึดอาชีพจับหอยขายอย่างเดียว จึงกลายเป็นเรื่องขัดแย้งกัน เพราะถ้าหอยที่นี่หมด พวกเราก็ไม่รู้จะไปจับที่ไหน” นายพัทยาบอก
เกี่ยวกับหอยแครง ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Arca granulosa เป็นหอย จำพวกกาบคู่ อาศัยอยู่พื้นท้องทะเลชายฝั่งตื้นๆ ที่เป็นโคลนหรือโคลนเหลว พบมากที่จังหวัดที่มีชายทะเล เช่น สมุทรสงคราม จังหวัดชลบุรี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี และปัตตานี เป็นต้น
อาหารของหอยแคลงคือ พวกไดอะตอม แพลงก์ตอนพืช และแพลงก์-ตอนสัตว์
หอยแครงจะมีอุปนิสัยชอบฝังตัวอยู่ตามผิวดินโคลน ลึกตั้งแต่ 1-12 นิ้ว โดยเราจะสังเกตเห็นเป็นรูจำนวน 2 รูป ที่ผิวดินซึ่งเป็นช่องทางน้ำเข้า-ออก และสามารถเห็นรอยการเคลื่อนที่ของหอยเป็นร่องๆ โดยใช้เท้าในการเคลื่อนที่เพื่อหาอาหาร
หลบหลีกศัตรู และเพื่อหาสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม หอยแครงจะขึ้นมาที่ผิวดินเมื่อน้ำขึ้นเพื่อหาอาหาร และจะฝังตัวใต้ผิวดินเมื่อน้ำลงเพื่อป้องกันน้ำออกภายนอกตัวหอย แต่จะเปิดฝาทั้ง 2 เล็กน้อย
หอยแครงมีหลายชนิด เช่น หอยแครงเทศ หอยแครงขุ่ย หอยแครงปากมุ้ม หอยแครงมัน หรือหอยแครงเบี้ยว เป็นหอยที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ชนิดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่จะเรียกหอยครางหรือหอยแครงขน
หอยแครงชนิด ที่ชาวบ้านจับและมีปัญหากันอยู่ นายศรีเพชร สุ่มอ่ำ อายุ 40 ปี อบต.บางขุนไทร บอกว่า คือหอยแครงปากมุ้ม ถ้าจับตัวเล็กๆ ขนาดเม็ดทรายต้องใช้เวลาดูแลประมาณ 1 กว่าถึง 2 ปี
ถ้าจับตัวขนาด 6 มิลลิเมตร ใน 1 กิโลกรัม จะมีหอยประมาณ 3-400 ตัว อนุบาลไว้ประมาณ 7 เดือน น้ำหนัก 1 กิโลกรัม จำนวนตัวหอยจะเหลือประมาณ 60-70 ตัวเท่านั้น และขนาดนี้ก็นำไปประกอบอาหารได้แล้ว
นายศรีเพชร สุ่มอ่ำ อบต.บางขุนไทร บอกว่า สาเหตุที่อนุรักษ์ไว้ นอกจากเป็นอาชีพของชาวบ้าน ต่อไปจะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและที่สำคัญ “เด็กๆช่วงปิดเทอมก็สามารถมาจับหอย การทำอาชีพเก็บหอยไม่มีเกษียณอายุ ทำได้ตั้งแต่เด็กๆ เรื่อยไปจนถึงแก่เฒ่า ตราบใดที่ยังมีหอย ขอให้มีความขยันอย่างเดียว อย่างไรก็มีกิน” นายศรีเพชรบอก
ศึกชิงหอย แครงในอ่าวบ้านแหลม ระหว่างคนพื้นที่กับคนถิ่นอื่นๆ แม้จะไม่รุนแรงนัก แต่เป็นสัญญาณให้รู้ว่า การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ เกิดปัญหาแล้ว
* โพง? 😕 เป็นวิธีการหาหอยแครงของชาวประมงชายฝั่ง ใช้เครื่องมือประกอบอาชีพโพงหอยคือ เรือ 1 ลำ ชะเนาะสำหรับช้อน 1 อัน กะละมัง 1 ใบ และกระดานเลน 1 อัน? วิธีการโพงหอยคือ พายเรือออกไปที่หอยเกิด ผูกกะละมังให้ลอยน้ำไว้กับเรือ แล้วดำลงไป ใช้ชะเนาะครูดผิวดินแผ่วๆแล้วโผล่ขึ้นมาเทสิ่งที่ครูดได้นั้นลงกะละมัง จากนั้นคัดแยกหอยตามต้องการ ส่วนปลอมปนใดๆที่ติดมาก็ปล่อยคืนทะเลไป
ที่มา : ไทยรัฐ 4 พ.ย. 52