ตลาดสดกับมิติทางด้านวัฒนธรรม

รายการ ตลาดสดสนามเป้าของสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ในทุกคืนวันอาทิตย์ที่มี 3 สาวน้อยเป็นผู้จัดรายการ ได้สะท้อนมิติทางด้านวัฒนธรรมของตลาดสดอันเป็นวิถีชีวิตเศรษฐกิจของชุมชนไทย ที่ควรจะอนุรักษ์ไว้ เพราะว่าตลาดสดกำลังจะตายและวายเพราะเผชิญหน้ากับการขยายตัวของห้างค้าปลีก ยักษ์ที่รัฐไม่มีมาตรการควบคุมทั้งด้านนโยบาย และไม่มี พ.ร.บ.ค้าปลีก

การที่ห้างค้าปลีกยักษ์มักเลือกเปิดชนกับตลาดสด เพื่อทำลายตลาดสด ซึ่งเป็นชุมชนเก่า เป็นทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมด้านภูมิปัญญาทางด้านเทคนิคการปรุงอาหาร น้ำพริก น้ำแกง ก๋วยเตี๋ยว และขนมพื้นบ้านที่สะสมถ่ายทอดกันมาหลายชั่วคน


ตลาดสดเป็นศูนย์รวมของภูมิปัญญาไทยด้านการทำอาหารและขนมซึ่งมักจะมีคุณป้า คุณยาย คุณพี่ อาแป๊ะ อาม่า หรือร้านค้าที่มีชื่อเสียงในด้านการทำขนม น้ำพริก แกง ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ หรืออาหารพื้นบ้านอื่นๆ ที่หาซื้อไม่ได้ในร้านทั่วไป

หากตลาดสดกลายเป็นตลาดร้างเพราะ รัฐบาลไม่มีมาตราการควบคุมให้อยู่ร่วมกันได้เหมือนในประเทศยุโรป ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมด้านการเป็นพ่อครัวแม่ครัวอาหารโลกก็จะทยอยสูญหายไป ทุกวันนี้แม้แต่ขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมสาคูถั่วดำ ขนมบัวลอย ฯลฯ หรือแกง หรือน้ำพริกก็ต้องซื้อสำเร็จรูปแบบแช่แข็ง แม้แต่ร้านอาหารก็ซื้อมาอุ่นด้วยไมโครเวฟให้ลูกค้า กินแบบอาหารด่วนของชาติตะวันตกกันแล้ว ภูมิปัญญาเหล่านี้ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประจำชาติกำลังถูกทำให้ค่อยๆ สูญพันธุ์ และสูญสลายไปเพราะว่าถูกทำลายอาชีพทางอ้อม โดยรัฐไม่ปกป้องสิทธิทำกินของเขา ลูกหลานของเขาจะไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีโอกาสมาสืบทอดวิชาชีพของบรรพบุรุษและในที่สุดอาจจะกลายเป็น อาชญากรอย่างไม่มีทางเลือก

นอกจากมิติทางด้านวัฒนธรรมแล้ว ยังมีมิติทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจรากหญ้าที่ครอบ คลุมชีวิตคนจำนวนมากเกือบทุกอาชีพ โดยเฉพาะเกษตรกรทั้งชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน และชาวประมง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศผู้นำสินค้ามาจำหน่ายหรือส่งให้ตลาดสดทุกวัน

เอกสาร ของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยปี 2550 ระบุว่า จำนวนตลาดสด 125,000 ตลาด แต่ละตลาดสดมีแม่ค้าไม่ต่ำกว่า 100 ราย หากตลาดต้องปิดตัวลงหมดจะมีพ่อค้าแม่ค้าหมดอาชีพจำนวน 12.5 ล้านคน หากแต่ละคนมีครอบครัวละ 3 คนที่ต้องเลี้ยงดูก็จะมีผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 37.5 ล้านคน

talad_rimnam

นอกจากตลาดสดที่ถูกกระทบโดยตรงแล้ว ยังมีร้านโชห่วยซึ่งตามภูมิสังคมและวิถีชีวิตจะสร้างเป็นห้องแถวที่เป็นร้าน ค้าขายสารพัดสินค้าอยู่รอบๆ ตลาดสดในใจกลางเมือง ใจกลางจังหวัด ใจกลางชุมชนในทุกอำเภอและตำบล มีสภาพเหมือนห้างค้าปลีกยักษ์ที่มีเจ้าของนับจำนวนพันหรือหมื่นเป็นเจ้าของ ร่วมกัน และก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก ข้อแตกต่างของชุมชนค้าปลีกหรือโชห่วยรอบๆ ตลาดสดกับห้างค้าปลีกยักษ์ คือ ร้านโชห่วยจ่ายภาษีรายได้ให้ท้องถิ่น และรายได้ก็หมุนเวียนอยู่ในท้องถิ่น แต่การขยายตัวของห้างค้าปลีกยักษ์เข้ามาในจังหวัดและอำเภอ ไม่ได้จ่ายภาษีรายได้ที่ท้องถิ่น แต่ไปเฉลี่ยจ่ายที่ส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ ท้องถิ่นจึงได้ประโยชน์น้อย แต่ความมั่งคั่งถูกสูบเข้าสู่ศูนย์กลาง จำนวนร้านค้าปลีกรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของห้างค้าปลีกยักษ์ มีจำนวนมากถึง 680,000 ร้าน

เมื่อต้นปี 2550 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์สากล ศูนย์วิจัยพฤติกรรมบริโภค คณะบริหาธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม สำรวจและวิจัยผลกระทบจากการเติบโตของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีต่อร้านค้า ปลีกแบบดั้งเดิมในเขตกรุงเทพฯ โดยสุ่มตัวอย่างจากร้านโชห่วยที่เปิดดำเนินการมา 1 ปีขึ้นไปจำนวน 400 ร้าน พบว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่ประเภทไฮเปอร์มาร์ตส่งผลกระทบต่อร้านโชห่วยมากที่ สุด ร้อยละ 34% รองลงไปเป็นร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 26 และซูเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 14

ผลสำรวจยังระบุว่า ในเขตกรุงเทพฯขณะนี้ร้านโชห่วยต้องเลิกกิจการ คิดเป็นสัดส่วน 40% ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งปิดตัวเอง และอีกครึ่งหนึ่งหันไปทำธุรกิจอื่น ส่วนพฤติกรรมการซื้อสินค้าจากโชห่วยและโมเดิร์นเทรด ขณะนี้มีสัดส่วนเท่ากัน 50 : 50 แต่คาดว่าภายใน 3-5 ปีโมเดิร์นเทรดจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 80%

ข้อมูลของบริษัทเอซี นีลเส็น และสมาคมผู้ค้าปลีกไทยระบุว่า มูลค่าทางธุรกิจ (ยอดขาย) ของค้าปลีกและค้าส่งเท่ากับ 1.4 ล้านล้านบาทในปี 2548 หรือ 18% GDP ส่วนแบ่งของค้าปลีกสมัยใหม่ในปี 2549 เท่ากับร้อยละ 34.2 หรือ 4.8 แสนล้านบาท ภาพรวมและตัวเลขข้างต้นทั้งหมดระบุถึงความสำคัญของธุรกิจค้าปลีกโดยรวม ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบข้างต้น

การรุกและคุกคามของการขยายตัวของ ห้างค้าปลีกยักษ์ต่างชาติ รายงานของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติระบุว่า เมื่อศึกษาลงไปในรายละเอียดแล้วพบว่าอัตราขยายตัวของห้างค้าปลีกไทยเมื่อ เปรียบเทียบกับสหรัฐแล้ว จะพบว่าการค้าแบบ modern trade ในไทยมีอัตราขยายตัวรวดเร็วมาก ห้างค้าปลีกบางรายมีการขยายตัวสูงถึง 232 สาขา ภายในเดือนเดียวก็มี (ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3867 (3067))

ในรายงานชิ้นเดียวกันระบุต่อไปว่า การทำธุรกิจของห้างค้าปลีกสมัยใหม่ไม่ได้ทำ “กำไร” จากการซื้อมา-ขายไปแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการขายสินค้าในราคาต่ำกว่าทุน (หรือยอมขายสินค้าขาดทุน) การจำกัดปริมาณซื้อเพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดลูกค้าและไปสร้างรายได้ ผ่านช่องทางใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับซัพพลายเออร์ รวมไปถึงลูกค้า ส่งผลให้ร้านค้าปลีกเล็ก (โชห่วย) ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถแข่งขันกับห้างค้าปลีกสมัยใหม่เหล่านี้ได้

จาก การตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการพบว่า ห้างค้าปลีกสมัยใหม่รายหนึ่งในปัจจุบัน มีการขาดทุนในหมวดของการซื้อมา-ขายไป แต่มี “กำไร” ในหมวดที่ลงไว้ว่า “รายได้อื่นๆ” เข้ามาทดแทน โดยที่มาของรายได้อื่นๆ นั้นประกอบไปด้วย

1) ค่านำสินค้าเข้าครั้งแรก หรือ entrance fee

2) ค่าเก็บรหัสข้อมูลรายการสินค้า

3) ค่าบริการชั้นวางสินค้า zone A ที่ดึงดูดผู้ซื้อจะเก็บค่าใช้จ่ายเป็นพิเศษ

4) ค่าธรรมเนียมพิเศษต่างๆ มากมาย อาทิ ขายเข้าเป้าเป็นรายเดือน/ปี

5) ค่าศูนย์กระจายสินค้า distribution center

6) ค่าแผ่นปลิวโฆษณาสินค้าในห้าง

7) ค่าส่วนลด ของแถม ตามโอกาสเทศกาลต่างๆ

8) ค่าเช่าพื้นที่ใน plaza โชว์รูมรถยนต์ คาราวานสินค้า

และ 9) การบริหารจัดการ DC ลดค่าใช้จ่ายทำให้มีรายได้เข้ามาเพิ่ม

นาย ศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลกระทบของการขยายตัวของห้างค้าปลีกยักษ์ว่า มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะแนวราบที่เกิดขึ้นกับผู้ค้าปลีกเท่านั้น ผลกระทบจะไม่ใช่อยู่แค่ซัพพลายเออร์ แต่จะกระทบถึงผู้ผลิตด้วย เช่น ตลาดผลไม้ ถ้าใครควบคุมตลาดภายในก็สามารถควบคุมตลาดส่งออก ซึ่งอนาคตมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น นี่จึงเป็นโครงสร้างปัญหาระดับแนวดิ่ง ดังนั้นการดูแลจึงต้องมีกฎหมายเฉพาะ การค้าปลีกสมัยใหม่ก็ต้องมีกฎหมายสมัยใหม่ ส่วนการส่งเสริมเอสเอ็มอีทำได้ก็ต่อเมื่อห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มีอัตราเติบโต ที่เหมาะสมเท่านั้น ถ้าห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ยังไม่หยุดขยายสาขา ส่งเสริมไปก็จะมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง (คณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2550)

ถึงเวลาที่รัฐบาลรวม ทั้งผู้บริโภคจะต้องหันมาทบทวนถึงผลกระทบข้างต้นโดยการเปลี่ยนพฤติกรรมการ เข้าห้างค้าปลีกยักษ์ แต่หันมาช่วยกันอนุรักษ์วิถีไทยและวัฒนธรรมไทย

นักการ เมืองท้องถิ่นทั้ง อบต. อบจ. นายกเทศมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด และตำรวจ ต้องมีจิตสำนึกและวิสัยทัศน์ มีนโยบายและสร้างมาตรการมาส่งเสริมและอนุรักษ์ตลาดสด ซึ่งเป็นวิถีชีวิตไทยให้มีความสะอาด ทันสมัย มีการจัดที่จอดรถสาธารณะและจัดระเบียบการจราจรให้อำนวยความสะดวกต่อผู้ บริโภคที่ต้องการไปจับจ่ายในตลาดสดเพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตไทย และส่งเสริมเศรษฐกิจรากหญ้าให้อยู่รอดได้ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังคุกคาม ประเทศในขณะนี้

ที่มา : คอลัมน์ เดินคนละฟาก ประชาชาติธุรกิจ 23 มี.ค. 52