เปล่า! ไม่ได้มาชวนกินโปรตีนจากแมลง
ก็ผีเสื้อในที่นี้ไม่ใช่แมลงมปีกสีสวยบินในสวนยามกลางวัน หรือแมลงปีกสีทึมทึบที่บินโฉบเฉี่ยวหลอดไฟท่ามกลางความมืด แต่มันคือ “ผัก”
จะเรียกว่า “ผัก” ตามความเข้าใจของคนทั่วๆ ไปก็คงจะงงกันอีก เพราะหลายคนอาจไม่เคยรู้เลยว่ามันกินได้ ฉันเองเมื่อสิบกว่าปีก่อนก็ไม่เคยรู้เช่นกัน จนกระทั่ง “พี่แดง” แห่งเรือนปั้นหยาที่บางปลาม้า บอกให้รู้ตอนที่ไปขอพันธุ์ผีเสื้อมาปลูกว่าไอ้ต้นนี้กินได้ แกเก็บกินกับน้ำพริกบ่อยๆ ฉันเลยทดลองเด็ดก้านยาวๆ สีม่วงแดงใสที่ปลายก้านมีใบแตกออกเป็น 3 แฉก ซึ่งแต่ละใบดูเผินๆ คล้ายปีกผีเสื้อมาลองชิมทันที… รสของมันเปรี้ยวๆ ใสๆ เนื้อนุ่มและกรอบ เหมาะกับน้ำพริกกะปิดีจริงๆ
ต้นผีเสื้อปลูกง่ายมากๆ จะแดดจัด หรือแดดรำไร ก็โตและให้ดอกให้ใบได้เสมอ ดอกสีม่วงชมพูจางๆ และใบม่วงแดงจะคลี่กลีบออกมารับแสงยามเช้า และหรุบหรู่ลงเมื่อยามพลบค่ำ เวลาฉันเดินทางไปไหนต่อไหน 3 – 4 วัน แม้ไม่มีใครดูแลมัน กลับมาเห็นอีกทีมันก็แค่หุบใบลงเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของตัวเองเอาไว้ พอรดน้ำลงไปมันก็กลับสดชื่นสดใสขึ้นมาใหม่ เรียกพลังชีวิตตัวเองกลับมาใหม่ได้เสมอ
โดยเนื้อสัมผัสของผีเสื้อ สำหรับฉันแล้วเหมาะจะเอามากินสดๆ อร่อยที่สุด ทั้งกินกับน้ำพริกหรือเอาไปเข้าเครื่องยำกับผักอื่นๆ ที่มีอยู่ในบ้าน ยังไม่เคยค้นคว้าดูเหมือนกันว่ามีสรรพคุณทางสมุนไพรอย่างไร แต่ถ้ายึดหลักเรื่องรสของสมุนไพรไทยแล้ว รสเปรี้ยวนอกจากจะทำให้กระชุ่มกระชวย ช่วยเจริญอาหารแล้ว ยังช่วยกัดเสมหะด้วย คนที่เคยกินต้นผีเสื้ออย่างฉัน บางคราวเพียงแค่นึกถึงก็น้ำลายสอ พอๆ กับนึกถึงมะม่วง มะดันกับกะปิหวานอย่างไรอย่างนั้น
ยำผีเสื้อที่จะมาแบ่งสูตรกันวันนี้ นอกจากจะมีใบผีเสื้อ 3 – 4 ก้าน แล้ว ฉันใส่ผักอื่นๆ ที่โตมาด้วยกันกับมัน รวมๆ แล้วมีดังนี้
- ใบชะพลู 3 ใบ
- ใบมะกรูด 3 – 4 ใบ
- ผักชีใบยาว (ผักชีฝรั่ง) 3 ใบ
- ผักเป็ด (watercress) ทั้งสีเขียวและสีแดง
- พริกขี้หนู 4 – 6 เม็ด
- หอมแดง 4 – 6 หัว
- ดอกอัญชัน
- ถั่วงอกอินทรีย์ที่เพาะเองอีกขยุ้มมือหนึ่ง
คราวนี้ก็มายำกันเลย
- นำผักต่างๆมาหั่นฝอย ซอยหยาบๆ รอไว้ ยกเว้นแต่ดอกอัญชัน ถั่วงอก และผักเป็ด
- เด็ดผักเป็ดเป็นใบๆ ออกจากก้าน ส่วนก้านที่เหลืออย่าโยนทิ้ง เอามาชำลงในดินที่แดดส่องรำไร รดน้ำวันละหน ไม่นานเท่าไหร่ก็จะแตกใบแตกกอรอให้เก็บมากินได้อีก
- เนื้อสัตว์ที่ใส่ในยำผีเสื้อ ฉันเลือกใช้กุ้งฝอยแม่น้ำกองละ 20 บาท ที่เพิ่งได้มาจากตลาดนัดหน้าหมู่บ้านเพื่อเพิ่มแคลเซียม เอามาล้างดึงเศษใบไม้แห้งที่ติดตามหนวดกุ้งออกให้หมดแล้วใส่หม้อ ใส่ใบมะกรูด 4 – 5 ใบ ปิดฝาตั้งไฟอ่อนถึงปานกลางสัก 5 นาที กะดูพอน้ำแห้งงวดดีกุ้งก็สุก ใครหากุ้งฝอยอบไม่ได้ จะเลือกใส่หมูสับ กุ้งสับหรือรวนทั้งตัว กุ้งแห้ง ปลากรอบ ถั่วซีกทอด หรืออื่นๆ ก็แล้วแต่ชอบค่ะ
- น้ำยำ โดยทั่วไปจะใส่น้ำปลากับน้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลทราย แต่คราวนี้นำเสนอแบบครบคุณค่าอาหารขึ้นมาอีกหน่อย คือ เลือกใช้ “น้ำผึ้งโหนด” หรือ “น้ำตาลโหนด” เคี่ยวสัก 1 ช้อนชา ผสมกับเกลือเล็กน้อยคนให้ละลายดีแล้วเติมน้ำมันงา 1 ช้อนโต๊ะ กับน้ำมันรำข้าวอีก 1 ช้อนชา ราดลงบนผักและกุ้งที่เตรียมไว้ โรยงาดำคั่วบดเพิ่มความหอม จากนั้นคลุกเคล้าให้เข้ากัน
คราวนี้ก็กินผักที่ปลูกเองรอบๆ บ้านได้แบบง่ายๆ ครบคุณค่าวิตามิน เอ บี ซี อี ไฮแคลเซียม และโปรตีน
เคล็ดลับนิดเดียวตรงที่ ชอบอะไรแบบไหนก็ใส่มันเข้าไปตามชอบนั่นแหละ ชอบเปรี้ยวก็เพิ่มเจ้าผีเสื้อ ชอบหอมแบบใบชะพลูที่ช่วยให้เจริญอาหารก็ใส่เพิ่มเข้าไป กลัวเผ็ดก็ลดพริก หรือถ้าไม่ชอบอะไรก็ไม่ต้องใส่อันนั้น
แค่รู้ว่ากินได้ รู้รส รู้กลิ่น เราก็สามารถดัดแปลงวิธีกินสารพัดผักได้ ก็จะตั้งใจกินมันซะอย่างอะนะ แค่สนุกที่จะเรียนรู้กับมันไปได้เรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ creative food แต่เป็น alternative food ของเราเอง ที่สร้างความครื้นเครงใจไปพร้อมๆ กับความอิ่มอร่อยและประหยัด
- ถ้าอยากปลูกผีเสื้อเอาไว้นานๆ มี 2 วิธี คือ เลือกตัดเฉพาะกิ่งที่โตเต็มที่หรือแก่จัดแล้ว เลือกดูก้านยาวที่สุดในกอ หรืออีกแบบหนึ่งคือค่อยๆ ใช้นิ้วขุดคุ้ยลงไปในดินที่ปลูก แล้วถอนขึ้นมาทั้งหัว จากนั้นเด็ดเอาแต่ใบไปกิน ส่วนหัวก็เอาไปขยายปลูกในกระถางใหม่ โดยดินที่ปลูกเป็นดินร่วนก็โอเคแล้ว หัวผีเสื้อที่ได้มาเอากลบดินใช้ฝ่ามือกดให้เนื้อดินแนบแน่นเพื่อให้น้ำค่อยซึมซาบลงไป รดน้ำแค่วันละครั้ง ภายใน 4 – 5 วัน มันก็ค่อยๆ แตกยอดออกมาใหม่ อีกสัก 1 เดือนก็จะได้กอผีเสื้อสวยๆ เพิ่มอีกกอ คราวนี้ก็มีกินได้ต่อไม่รู้จบ
- ว่ากันว่าผักเป็ดทั้งสีแดงและสีเขียวมีสรรพคุณช่วยฟอกโลหิต และบำรุงน้ำนม ใครรักสุขภาพแบบเน้นการกินผักหลากสีก็จะรู้ว่ามันมีแอนติออกซิแดนท์สูงเสียด้วย นอกจากกินสดๆ เป็นผักยำและผักสลัดแล้ว ยังเอามาใส่ผัดผักไฟแดง ก๊วยเตี๋ยวราดหน้า แกงเลียง แกงส้มก็ได้ บางคนก็เอามาชุบแป้งแล้วทอดกรอบ จิ้มกับน้ำจิ้ม 4 รส เปรี้ยว-หวาน-เค็ม-เผ็ด
- เครื่องปรุงที่เป็นผักทั้งหมดหาเองได้จากในบ้าน แต่ที่ยังพึ่งพิงจากข้างนอกก็จะเป็นผลิตผลจากเพื่อนๆ ที่รู้จักและไว้ใจได้ในกระบวนการผลิต อย่างหอมแดงกับน้ำมันรำข้าวนี่มาไกลจากตลาดสีเขียว จ.สุรินทร์ ผลิตโดย ”สหกรณ์เกษตรอินทรีย์กองทุนข้าวสุรินทร์” สนใจติดต่อได้ที่ร้านข้าวหอม โทร. 044-515-857 หรือคุณทิพย์ 081-977-4610
ช่วงหอมกับกระเทียมออกใหม่ๆ ฉันลองกะปริมาณดูพอให้ใช้ชนปี สมทบกับยอดจากเพื่อนๆ ที่อยากได้ด้วย แล้วค่อยตกลงใจโทรไปสั่งตอนช่วงก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมา คนที่ได้กินหอมแดงกับกระเทียมอินทรีย์ต่างเอ่ยถึงสรรพคุณกลิ่นหอมฉุนสมคำชวนเชื่อและช่วยซื้อแบบไม่ทำให้ผิดหวัง
ส่วนงาที่เอามาคั่วเองกับน้ำมันงามาจาก “ไร่ดินดีใจ” อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ซึ่งผลิตมาจากครอบครัวอินทรีย์ของคุณนกและคุณกำพล ทำความรู้จักเพิ่มเติมได้ที่ หรือโทร. 086-159-8939 งาอินทรีย์ต้องค่อยๆ ซื้อมาเพราะว่ากลัวเชื้อรา ซึ่งดูได้ยากมาก แต่ถ้าได้จากแหล่งที่มีกระบวนการแบบอินทรีย์ แล้วเพิ่งผลิตได้ไม่นาน เราก็เอามาคั่วและบดกินได้สบายใจ หอมอร่อยแบบไม่ต้องกลัวสารอัลฟาทอกซิน
ลงใน Magazine Wechange ฉบับที่ 1 ปีที่ 1 (สมัครสมาชิก wechange member club รับฟรี !)