ถ้าไปเดินกาดนัดพื้นบ้านตามภาคเหนือในช่วงนี้ต้องมีโอกาสเห็นผัก ดอกไม้ สวยๆ ก้านยาวๆ มีดอกเป็นตุ่มๆ ตูมๆ ตั้งแต่โคนก้านถึงปลายก้าน อวบอิ่มสวยงาม มันคือดอกนางลาวนั่นเองค่ะ เห็นแล้วอยากซื้อมาปักแจกันสวยๆ ซื้อเลยๆ แล้วก็อยากกินแต่กินยังไง ทำอะไรกินได้บ้าง ก็ถามไถ่แม่ค้าแม่กาดได้ความว่าแกงกับปลาย่างไม่ก็ต้มจิ้มน้ำพริก ซื้อจากเชียงใหม่หอบหิ้วกลับมาบ้านนนทบุรี จัดแจงใสแจกันชื่นชมสมใจ ผ่านไปหนี่งวัน ก็ถึงคิวโดนกิน…
นางลาว นางแลว? ลิงลาว ชอบอากาศแบบเย็นชื้นแบบดิบเขา ดอกดอกช่วง พศจิกายน – กุมภาพันธ์“ชื่อวิทยาศาสตร์:Tupistra albiflora เป็นไม้พุ่ม ในวงศ์ Asparagaceae มีเหง้าใต้ดิน ลำต้นแตกเป็นกอ ใบสีเขียวสด ดอกช่อ สีขาวปนม่ว สีเขียวปนม่วงหรือสีม่วงเข้ม ผลกลม ผิวขรุขระ ต้นที่มีก้านดอกสีเขียว จะมีรสหวานปนขม ก้านดอกสีขาวมรรสหวานเฝื่อน นิยมบริโภค แต่ต้นที่มีก้านดอกสีม่วง รสขม ไม่นิยมบริโภคยกเว้นในกลุ่มผู้สูงอายุ นำมาทำแกง แกงแค ส้มตำ หรือกินกับน้ำพริกนอกจากนั้นยังนำมาผัดน้ำมันหอยและชุบแป้งทอด ดอกและผลเป็นอาหารสัตว์ ดอกลิงลาวมีสารต้านอนุมูลอิสระ”
แต่บางคนก็บอกนางแลว มันเหมือนกันหรือเปล่าเพราะเห็นภาพจะมีดอกคล้ายๆ กันแต่ดอกเล็กดอกใหญ่ สันนิษฐานว่าดอกนางแลวน่าจะเป็นดอกเล็กก้านบางกว่า นางลาวช่อดอกใหญ่ก้านอวบคือแบบที่เรากำลังจะแกงค่ะ
วัตถุดิบ
ดอกนางแลว 5 ช่อ เด็ดเป็นท่อนๆ ตามภาพ
ผักหวาน 1 กำ เด็ดก้านที่แข็งออก
มะเขือส้ม 6-7 ลูก เอามีดเฉืยนให้พอแยก
ปลาย่าง 1 ตัว ขนาดกลางๆ จะฉีกเป็นชิ้นหรือจะโขลกละเอียดก็ได้
เกลือ 1 ช้อนชา
น้ำปลา
เครื่องแกง
ใช้พริกแห้ง 10 เม็ด(ชอบเผ็ดมากน้อยก็ลดเพิ่มกันเอาเองนะคะ) หัวหอม 5 หัว กระเทียม 6-7 กลีบ กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ
โขลกเข้าด้วยกัน
วิธีปรุง
– ตั้งน้ำโดยกะให้พอดีกับปริมาณผัก ใส่เกลือลงไป
– พอน้ำเริ่มร้อนใส่เครื่องแกงลงไปละลาย ตั้งต่อไปให้น้ำเดือดจึงใส่ปลาย่างที่โขลกไว้ ทิ้งให้เดือดต่อสักพัก
– ใส่ผักนางแลว มะเขือส้ม พอเริ่มเดือดอีกครั้งชิมรสถ้ายังอ่อนเค็มให้เติมน้ำปลา
– ประมาณว่าผักนางแลวเริ่มสุกแล้วจึงใส่ผักหวานลงไป เป็นอันเรียบร้อย