สถานการณ์ภัยพิบัติที่มนุษย์เราประสบในปัจจุบัน ทั้งภัยธรรมชาติหรือโรคภัยร้ายต่างๆ ที่ยากต่อการรักษา และโศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวที่สาธารณรัฐเฮติ ภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรงรับศักราชใหม่ สิ่งเหล่านี้บอกเราได้ว่าโลกของเรากำลังเปลี่ยนไป
เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา ได้เกิดโรคติดต่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกเจ็บป่วยและเสียชีวิต นอกจากส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพแล้ว ยังสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนและส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ยังคงเป็นภัยร้ายลุกลามมาจนถึงปี 2553 นี้ด้วย
หากจะกล่าวถึงโรคร้ายยอดนิยม ที่คร่าชีวิตผู้คนไปอันดับต้นๆ ของโลก คงไม่มีใครไม่คิดถึงโรคมะเร็ง โรคร้ายที่คนส่วนใหญ่แทบจะหมดหวังต่อการเยียวยา ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่ามะเร็งเป็นโรคทางพันธุกรรม แต่ถ้าเราสังเกตในปัจจุบัน คนที่เรารู้จักใกล้ชิดล้วนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ทั้งที่ในครอบครัวของเขาไม่มีใครป่วยด้วยโรคนี้
สาเหตุของโรคร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกิดจากการรับเอาสารพิษไปสะสมในร่างกายและผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ ก็ไม่ต่างจากกำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางมลพิษทางด้านต่างๆ อีกทั้งอาหารที่เรากินเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผักต่างๆ ที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด ก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าปลอดสารพิษ
คนในชนบทเองถึงแม้พวกเขาจะหลีกเลี่ยงสารพิษบางอย่างไม่ได้ แต่ก็ได้เปรียบกว่าคนในเมืองหลวงมากนัก มีอากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจอย่างเต็มปอด ไม่มีการจราจรติดขัดให้เสียสุขภาพจิต และที่สำคัญพวกเขามีผักพื้นบ้านให้บริโภคมากมาย ผักพื้นบ้านที่ขึ้นตามท้องไร่ท้องนาหรือปลูกไว้ริมรั้ว สะอาด อร่อย และปลอดภัย
เมื่อเกิดวิกฤตทางด้านสุขภาพดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เปิดตู้กับข้าวฉบับนี้ จึงได้นำเสนอ “ผักขี้ขวง” อาหารพื้นบ้านที่มีสรรพคุณทางยาช่วยต้านโรคร้าย
ผักขี้ขวง (ภาคเหนือ) หรือที่ภาคกลางเรียกว่า สะเดาดิน พบขึ้นบริเวณชื้นแฉะ ในไร่นาและตามสนามหญ้าโดยทั่วไป เป็นพืชล้มลุก ลำต้นทอดเลื้อยแตกแขนงแผ่ออกครอบคลุมดินคล้ายพรม ใบมีขนาดเล็กเรียวยาวออกจากบริเวณข้อของลำต้นข้อละ 4-5 ใบ ขอบใบเรียบ ก้านใบสั้น ดอกออกรอบๆ ข้อ ข้อละ 4-6 ดอก มีกลีบดอก 5 กลีบ สีขาวอมเขียว ติดผลรูปยาวรี เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็นสามแฉก ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลแดงจำนวนมาก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด
ผักขี้ขวงเป็นสมุนไพรบำรุงน้ำดี แก้ไข้ แก้ร้อนใน แก้หวัด แก้ไอ ทาแก้ฟกช้ำบวมอักเสบ นอกจากนี้ยังใช้แก้โรคผิวหนัง แก้คัน ใช้หยอดหูแก้ปวดหู ชาวบ้านในภาคเหนือนิยมนำผักขี้ขวงมาแกงใส่ปลาย่างหรือใส่เนื้อควายก็ได้ตามชอบ
ส่วนผสม
1. ผักขี้ขวง 100 กรัม
2. ปลาย่างปลาเนื้ออ่อน 1 ตัว
3. มะเขือเทศลูกเล็ก 5 ลูก
เครื่องแกง
1. พริกแห้ง 5 เม็ด
2. หอมแดง 2 หัว
3. กระเทียม 1 หัว
4. กะปิ ½ ช้อนโต๊ะ
5. ปลาร้า ½ ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1. นำเครื่องแกงมาโขลกให้ละเอียด
2. ต้มน้ำให้เดือด แล้วละลายเครื่องแกงลงไป
3. ใส่ปลาย่างพอปลานุ่มแล้วใส่มะเขือเทศ
4. นำผักขี้ขวงใส่พอสุกแล้วปิดไฟ
ในอดีตตามท้องไร่ท้องนาจะมีผักขี้ขวงขึ้นอยู่ทั่วไป อยากจะกินเมื่อไหร่ก็ไปหาเก็บมาทำอาหารได้ แต่ในปัจจุบัน การทำการเกษตรแบบเข้มข้นที่ไม่มีการพักดิน ทั้งการฉีดยาคุมหญ้าในแปลงผัก เพื่อไม่ให้มีวัชพืชเจริญเติบโตขึ้นมาแย่งอาหารจากพืชผักที่เกษตรกรปลูกไว้ นั่นทำให้ผักขี้ขวงเป็นผักที่หาได้ยากมากขึ้น ซึ่งถ้าใครจะหาซื้อผักขี้ขวงตามตลาดพื้นบ้าน ก็ยังพอหาได้ในราคากองละ 10 บาท (ไม่ถึง 100 กรัม แต่พอแกงได้หนึ่งชาม) ถือว่าราคาสูงสำหรับผักพื้นบ้านที่เคยมีอยู่มากมายและหาได้ง่ายในอดีต
แกงผักขี้ขวงใส่ปลาย่างรสขมกลมกล่อม เป็นอาหารโปรดของคนไกลบ้านหลายคน ฉันเองกลับบ้านทีไรเป็นเรียกร้องให้แม่ทำให้กิน โดยเน้นปลาย่างที่เป็นปลาเนื้ออ่อน อาจเพราะกินแต่ปลาย่างปลาเนื้ออ่อนมาตั้งแต่เด็ก จึงคิดว่ามันอร่อยกว่าปลาย่างปลาสวายมากนัก
ผักขี้ขวงที่นำมาแกงแม่ไปเก็บจากในสวน ไม่ต้องไปซื้อที่ตลาด เพราะที่บ้านเราทำสวนเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด และปลูกผักปลอดสารไว้กินในครัวเรือน ทั้งผักกาด มะเขือ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ กระเทียม หอมแดง ผักชี คื่นช่าย และสารพัดผักที่เรากิน ตามคำที่ว่า “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก”
ที่บ้านของฉัน เรามีปลากินตลอดทั้งปี มีไข่เป็ดฟองโตที่เก็บได้ทุกวัน มีผักปลอดสารพิษนานาชนิดที่กินแล้วสบายใจ ส่งผลให้หน้าตาสดใส โดยเฉพาะผักขี้ขวงที่ไม่ต้องมีใครไปปลูก เพียงแค่มีที่ว่างตามหัวไร่ปลายนาหรือในแปลงผักอื่นๆ ผักขี้ขวงก็สามารถเจริญเติบโตได้โดยไม่ต้องไปรดน้ำให้เหนื่อยหรือใส่ปุ๋ยให้เปลืองเงินในกระเป๋า แถมแม่ยังบอกว่าปีที่ผ่านมา แม่เก็บผักขี้ขวงไปขายได้เงิน 2,000 กว่าบาท และแกงผักขี้ขวงแสนอร่อยหนึ่งชามแม่ก็จ่ายเงินซื้อแค่เพียงปลาย่าง 1 ตัวเท่านั้น
การทำการเกษตรแบบเข้มข้น อาจไม่ได้ทำให้ผักขี้ขวงค่อยๆ หายไปจากความทรงจำของเราเท่านั้น แต่ผักพื้นบ้านอื่นๆ สัตว์หรือแมลงบางชนิดอาจจะสูญพันธุ์ตามไปด้วย และที่สำคัญผักหญ้าตามท้องไร่ท้องนาที่เราเคยเห็นจนชินตาและมองว่ามันก็แค่ผักธรรมดานั้น แท้จริงแล้วมีสรรพคุณทางยาที่อาจเป็นทางออกของโรคร้ายที่มนุษย์เรากำลังเผชิญอยู่ก็เป็นได้
หากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเรื่องจริง เกษตรผสมผสานหรือเกษตรอินทรีย์ก็คงไม่ใช่แค่การสร้างความมั่นคงทางอาหารเท่านั้น แต่การที่มนุษย์ได้ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตหรือวิถีการดำรงชีวิตมาเป็นการพึ่งพิงธรรมชาติโดยไม่ทำลาย ให้ธรรมชาติสร้างความสมดุลในตัวเอง อาจกลายเป็นทางออกของระบบธรรมชาติทั้งระบบ ขึ้นอยู่กับว่าเราได้เริ่มที่จะเปลี่ยนแล้วหรือไม่
พิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ตู้กับข้าว จดหมายข่าวข้าวเต็มกล่อง มกราคม-เมษายน 2553อ้างอิง
http://www.rspg.or.th/plants_data/use/crop_d19.htm
http://2.bp.blogspot.com/
http://www.212cafe.com/freewebboard/user_board/tonight/picture/05194_5.jpg
http://library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/images/lanna_food/01012s_copy.jpg