Unser t?glich Brot หรือ Our Daily Bread เป็นหนังสารคดีจากประเทศเยอรมันนีที่นำเสนอที่มาของ ?อาหาร? อันเราท่านบริโภคอยู่เป็นประจำทุกวันนั้นว่ามีกระบวนการการเกิดการผลิตจนถึง การเก็บและการดับอย่างไรบ้าง โดยทั้งหมดเป็นภาพรวมจากโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายในทวีปยุโรป
ภาพทุกภาพที่นำเสนอในหนังสารคดีเรื่องนี้ ล้วนแล้วแต่ให้ความรู้สึก ?ตระการตา? และ ?ต้องตะลึง?
มีใครสงสัยว่าพืชผักต่างๆ พริกหยวก มะเขือเทศ แอปเปิ้ล ถูกดูแลและจัดเก็บอย่างไร มีขั้นตอนกระบวนการการผลิตและเก็บเกี่ยวอย่างไร กระทั่งเนื้อสัตว์ที่ได้จาก วัว หมู ไก่ ปลา สัตว์เหล่านั้นถูกดูแลเอาใจใส่ทั้งตั้งแต่เกิดจนถึงผสมพันธุ์ จนถึงวันที่ต้องถูกแปรสภาพมาเพื่อเป็นอาหารของคนนั้นเป็นอย่างไร หนังสารคดีที่จริงจังเรื่องนี้มีคำตอบ
หนังมีภาพของโรงงานขนาดใหญ่สำหรับล้างแอปเปิ้ลและจัดเก็บบรรจุลงกล่อง การเก็บผลไม้จากต้นคราวละมากๆ การนั่งเก็บหัวกระกล่ำโดยมีเครื่องจักรไล่บี้อยู่ข้างหลัง! โรงเล้าไก่ที่มีไก่ยืนเบียดกันนับแสนตัว การกว้านส่งไก่ใส่ตะกร้าเพื่อขนส่ง การเอาลูกวัวออกจากท้องด้วยความจำเป็น การชำแหละหมู (เข้าใจคำว่าไส้ทะลักก็คราวนี้…) การคว้านเอาพุงปลาออก การเชือดไก่ และเซอร์ไพร์ซของงานนี้คือ การจบชีวิตของวัวซึ่ง..เกินจะบรรยาย
แค่พูดถึงแบบอธิบายสั้นๆยังต้องหายใจถี่ๆ ประสาอะไรกับที่นึกไปถึงตอนกำลังดูภาพเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นจริง? ส่วนที่ตะลึงก็ตะลึงไป ส่วนที่ตระการตาก็มีมากโดยเฉพาะงานด้านภาพที่ถ่ายทอดออกมาได้มุมมองที่สวย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพในมุมมองกว้างๆ (Landscape) ให้เห็นความอลังการในความต้องการอาหารเพื่อดำรงชีพของชีวิตคน
นอกจากภาพของพืช สัตว์แล้ว ชีวิตประจำวันของคนงานในโรงงานก็น่าสนใจ ส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตกเอง การกินอยู่ช่วงพักกลางวันสุดแสนจะอ้างว้าง นั่งกินขนมปังแซนวิชและนม ด้วยท่าทีเย็นชา เฉยเมย ซึ่งต่างกับคนงานกลางแจ้งที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ผิวสี เมื่อถึงมื้อกลางวันบ้างก็หุงข้าวหม้อเบ้อเริ่มนั่งรวมกันเป็นกลุ่มบ้างก็ นั่งกินดื่มกันกลางลาน พูดคุยยิ้มหัว ดูมีชีวิตชีวา จึงดูเหมือนว่าเมื่อคุณมีหน้าที่การงานที่(ดู)ดีในโรงงาน! มีความรับผิดชอบสูง ได้ใช้ทักษะและสติที่มากเพราะต้องจดจ่ออยู่กับเครื่องจักรนั้น แต่คุณก็ต้องแลกกับการไร้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน กระทั่งเวลาพักกลางวันแทนที่จะได้จับกลุ่มพูดคุยตามประสามนุษย์สังคม
หนังทั้งหมดตลอด 90 นาทีถูกปกคลุมไปด้วยความเงียบ ใช้ภาพเป็นตัวเล่าเรื่อง ไม่มีเสียงสนทนาที่ตั้งใจให้ได้ยิน ไม่มีเสียงเพลงประกอบ ไม่มีเสียงบรรยายใดๆ เสียงที่ได้ยินในหนังจึงมีแค่เสียงเครื่องยนต์เครื่องจักรทำงานครางหึ่งๆ อยู่เบาๆเท่านั้น
นิโคลอส ไกร์ฮาลเทอร์ ผู้กำกับฯชาวออสเตรียนทำหน้าที่เป็นทั้งผู้กำกับฯและผู้กำกับภาพ อีกทั้งเป็นผู้นำพาหนังเรื่องนี้เข้ารับรางวัลชนะเลิศ Special Jury Award จากเทศกาลภาพยนต์สารคดี Amsterdam International Documentary Film Festival เมื่อปี 2005 ด้วย
บทความและภาพจาก renton_renton