อาหารบ้านฉัน

สูตรอาหารพื้นถิ่น
ของกินจากป่าหลังบ้าน
อร่อยหอมหวานถึงหัวใจ

เพิ่งได้หนังสือน่ารักน่าอ่านเล่มนี้มาจากงานสัปดาห์หนังสือ เมื่อต้นเดือนเมษายนนี่เอง เปิดดูข้างในปรากฏว่าพิมพ์ตั้งแต่ปลายปี 2550 อืม หลงหูหลงตาเราไปได้

แต่ไม่มีอะไรสายเกินไป ฉันเปิดอ่านตั้งแต่คำนำเลยทีเดียว จนไล่ละเลียดเมนูบ้านๆ ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น น้ำพริกเห็ดหล่ม ส้มเห็ดหน้าม่อย ยำเตา มอบปู๋ ไปจนถึง จอผักปั๋งใส่จิ้นส้ม แอ๊บอีฮวกและไข่ป่าม จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย สำหรับคนเขียน ปวีณา รักอาหาร ชอบทำอาหาร เธอเรียนทำอาหารในมหาวิทยาลัย แต่หนังสือเล่มนี้ เป็นความรู้ ความรัก ความผูกพัน ที่มันสะสมอยู่ในตัวเธอมาตั้งแต่เล็กจนโต ที่ได้จากการตามแม่ต้อยๆ ไปเก็บผัก เก็บเห็ด ในป่า เป็นกลิ่น เป็นรสของฤดูกาลที่เธอรู้จักอย่างดี

บ้านของปวีณา ที่แม่เหี๊ยใน ตีนดอนสุเทพ ป่าแถวนั้นสำหรับคนเมืองอาจจะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้นน้ำลำธาร เป็นอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย แต่สำหรับเธอ มันเป็นตู้กับข้าว ที่เธอเดินเข้าเดินออกมาตั้งแต่เด็ก อาหารบ้านเธอไม่ต้องซื้อหา ทั้งยังไม่ต้องปลูก ต้องเลี้ยง เพียงแต่รอคอยให้ถึงเวลาเหมาะๆ ก็แค่นั้น

ฉันไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้เรายังจะสามารถหาอีฮวก(ลูกออดกบ) ได้อยู่รึเปล่า เดี๋ยวนี้น้ำไม่สะอาดพอให้สัตว์บอบบางหายใจอยู่ได้ ทั้งยาฆ่าแมลง ยาฉีดหญ้า ที่ปนเปื้อนในห้วยในหนอง แล้วจะมีกบกี่ตัวกันที่ได้เติบโตตามธรรมชาติ รอให้เราไปไล่ตะครุบ เอามาแกง มาต้ม มีแต่ต้องไปซื้อกบเลี้ยงแล้วทั้งนั้น


ปวีณา บอกว่าป่าหลังบ้านเธอกำลังจะกลายเป็นอุทยานช้าง แน่นอน คนต้องออกไป หรือถ้าไม่ยอมออกไป ก็ต้องจำกัดพื้นที่ คงต้องตัดต้นไม้มากมาย คงต้องสร้างรั้วขนาดใหญ่ คงไม่สามารถไปเก็บเห็ด หาห่อได้อย่างเคย เขียนไปๆ ชักจะเศร้า กลับไปดูที่เมนูอาหารดีว่า อาหารพื้นบ้านส่วนใหญ่ทำง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ปวีณาเองก็เขียนเล่าเป็นธรรมชาติเชียว ฉันว่าจะลองทำตามดูบาง อย่างส้าใบมะขามอ่อนเนี่ย แค่คิดก็น้ำลายไหลแล้ว นอกจากนั้นก็ยังมีเคล็ดลับแยะไปหมด น่าสนใจทีเดียว

ฉันคิดว่ามีมากมายหลายคนที่เดินไปเก็บผักในป่าหลังบ้านของตัวเองไม่ได้อีกแล้ว มีป่าหลายผืนที่ต้องเปลี่ยนหน้าที่เพื่อสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนา และเราต้องหาเงินให้ได้มากขึ้นเพื่อจะซื้ออาหารที่เราไม่จำเป็นต้องซื้อก็ได้ เพียงแต่ความเป็นเจ้าของในทรัพยากรของเราจะมีเท่ากัน ฉันว่าปวีณาคงรู้สึกไม่ต่างจากนี้

สำนักพิมพ์มติชน

Relate Post