สวนละอองฟ้า อาศรมแห่งทุเรียน สำหรับผู้ชายที่ชื่อ “ชาตรี โสวรรณตระกูล” ทุเรียนเป็นมากกว่าผลไม้ เพราะมีความหมายซ้อนอยู่ให้ค้นหา
และคงไม่มากไปที่จะบอกว่า “สวนละอองฟ้า” คือ… “อาศรมแห่งทุเรียน”
บนเส้นทางที่ออกจากตัวเมืองนครนายกมาไม่ไกล มุ่งหน้าไปทางตำบลเขาพระ ณ ที่แห่งนั้นเป็นที่ตั้งของสวนทุเรียนแห่งหนึ่ง สวนทุเรียนที่มีคนกล่าวขวัญกันอย่างมากมาย ถึงขนาดมีชาวต่างประเทศบินมาเพื่อเยี่ยมชนสวนนี้โดยเฉพาะ…สวนแห่งนี้มีชื่อว่า “สวนละอองฟ้า”
ไม่ใช่เพียงเพราะ…สวนแห่งนี้มีทุเรียนมากกว่า 50 สายพันธุ์ ซึ่งนับว่ามากที่สุด
ไม่ใช่เพียงเพราะ…สวนแห่งนี้เป็นแหล่งดูงานของนักวิชาการทั้งหลาย
ไม่ใช่เพียงเพราะ…สวนแห่งนี้เป็นสวนเกษตรที่ปลอดจากสารเคมี
แต่สวนแห่งนี้มีวิถีที่ยึดโยงกับธรรมชาติ และเหนืออื่นใด.. หากเราไปสัมผัส เราอาจได้รับรู้บางอย่าง ที่มากกว่าเรื่องของ….ทุเรียน
ในเนื้อที่กว่า 30 ไร่ เราจะได้พบเจอกับทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียนละอองฟ้า ทุเรียนก้านยาว ทุเรียนชะนีก้านยาว ทุเรียนลวงทอง ทุเรียนชมพูสี ทุเรียนกระดุม ทุเรียนฟักข้าว ทุเรียนทองหยิบ ทุเรียนทองหยอด ทุเรียนกบแม่เฒ่า ทุเรียนกบเขา ทุเรียนกบสุวรรณ ทุเรียนกะเทยเนื้อขาว ทุเรียนกำปันเนื้อขาว ทุเรียนสาวน้อยเรือนงาน ทุเรียนแดงสาวน้อย ทุเรียนนมสด ทุเรียนทูลถวาย ฯลฯ
เห็นแค่รายชื่อพันธุ์เป็นใครก็ต้องประหลาดใจ
“คนสุพรรณเมื่อก่อนบอกว่าน้ำในคันนากินได้เลย แต่เดี๋ยวนี้เราต้องซื้อน้ำกิน มันเป็นเรื่องที่น่าสงสัยไม่น้อย อยู่ที่นี้เราเชื่อว่าต้นไม้ทำให้ดินดี และเราพยายามให้เขาช่วยตัวเองให้มากที่สุด ถ้าจะตายก็ปล่อยให้ตายไป จะรดน้ำก็เพียงเพื่อประคองเขาเท่านั้น”
พี่ชาตรีกล่าวว่าจริงๆ แล้วทุเรียนเป็นไม้ทนแล้ง แต่มีการนำมาตัดรากปรับปรุงต่างๆ แล้วนำมาปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้ต้องการใช้น้ำมากขึ้น แต่ก็มีพัฒนาการด้านเนื้อขึ้นด้วย จนสามารถนำมาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ ซึ่งต้องเข้าใจตรงนี้ และดูแลให้เหมาะสม
“เราอยากให้เขาสัมผัสได้เอง ต้องให้เขาลองชิมเอง ทุเรียนมันยากตอนนำเสนอ”
คุณชาตรีแสดงความเห็นว่าทุเรียนมันอยู่ที่การนำเสนอ เพราะของมันอยู่ในลูก และเรื่องการนำเสนอนั้นก็จะมีเรื่องมาตรฐานเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งบางทีมาตรฐานที่สังคมกำหนดอาจเป็นมาตรฐานที่ระบบตลาดเป็นคนกำหนด
“แต่เราก็มีมาตรฐานของเรื่อง เป็นเรื่องการสร้างคุณค่า”
กล่าวคือ มาตรฐานที่นี้จะมุ่งเน้นลักษณะประจำพันธุ์ ให้ลูกค้ามีความรู้ว่าพันธุ์นี้เป็นอย่างไร ถ้าพันธุ์ที่ลูกค้าคุ้นเคยจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าพันธุ์ที่แตกต่างลูกค้าจะรับไม่ได้
“เรื่องพันธุ์พืช อยู่ที่คนรู้คุณค่ามากกว่า คนไทยบางทียังไม่รู้ว่าตัวเองมีดีอะไร”
หากต้นทุเรียนจะตายพี่ชาตรีจะปล่อยให้ตายไปแล้วเพาะใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ บางต้นก็ใช้เมล็ดเพาะ โดยเอาเมล็ดของต้นเดิมมาวางไว้ข้างๆ ซึ่งส่วนมากจะออกมาใกล้เคียงพันธุ์เดิมหรืออาจออกมาดีกว่าด้วยซ้ำ
“บางต้นผมจะปลูกเมล็ดไว้ก่อนตามธรรมชาติ แล้วเอาต้นพันธุ์มาปลูกทีหลัง วางข้างๆ กันแล้วทาบติดกัน มันก็จะประสานเป็นเนื้อเดียวกันภายหลัง คิดว่ามันน่าจะยั่งยืนนะ ถ้ามันอยู่ได้”
“ใบทุเรียนมันบอกอะไรได้หลายอย่าง อย่างดูลักษณะของใบ ดูหลังใบ ดูความเงางาม ดูเส้นใบ ดูก้านใบ ดูปลายใบ จะบอกได้ว่าลูกจะโตไม่โต เฉพาะใบอย่างเดียวถ้ามีความรู้จริงๆ ก็รู้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ได้เลย”
สวนแห่งนี้จะพยายามอนุรักษ์ความหลากหลายไว้ให้เหมือนเดิมมากที่สุด พี่ชาตรีจะไม่ขุดตอเดิมทิ้งเลย ซึ่งบางทีนักวิชาการมาดูงานแล้วบอกว่าการทำอย่างนี้ทำไม่ได้เพราะเป็นการสะสมของโรค แต่นักวิชาการบางท่านก็บอกว่าโรคอาจทำอะไรต้นทุเรียนไม่ได้เพราะในสวนนี้มีทุกโรค
“แต่ต้นไม้มันแข็งแรง ผมก็ไม่รู้จะเชื่อใคร เอาตอไว้เป็นอนุสรณ์ว่าพ่อทำมา แล้วก็ปลูกต้นเล็กๆ ข้างตอนั้น”ซึ่งบางครั้งมีนักคิดนักเขียนมาเยี่ยมชมพอเห็นสภาพเหล่านี้แล้วก็บอกว่าสิ่งนี้แหละมันเป็นปรัชญา…
“เขาบอกว่า ตอเริ่มเปื่อย ต้นใหม่แทงขึ้น มันเป็นสัจธรรม”
“บางคนดูความยั่งยืนเขาดูข้างบน แต่ผมดันทะลึ่งมาชี้ให้ดูข้างล่าง บอกว่า ใบบัวบกผมก็ยั่งยืนนะ เมื่อก่อนผมออกมาเล่นกับเพื่อนได้ทั้งวันไม่ต้องกินข้าวเพราะจะมีของกินเต็มไปหมด”
“ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน คนอื่นเขามองมุมสูงกว่าเรา พอเราเริ่มเห็นทางเลือกว่ามันมีคนที่ทำอย่างเรานะ เราก็พิจารณาว่าไปทางไหนดี ไปทางธุรกิจคงไม่รอด และเราไม่มีประสบการณ์จะช้ากว่าเขาเสมอ ไม่มีทางที่เกษตรกรตัวจริงสู้เขาได้หรอก ไม่ทันเขา”
พี่ชาตรีบอกว่าทุเรียนมันเป็นเรื่องของสุนทรียะ บางทีมันไม่ได้ปลูกแต่ข้างนอกอย่างเดียว มันต้องปลูกข้างในด้วย รวมทั้งต้องทำความเข้าใจกับเขาให้มาก ยกตัวอย่างที่คุณพ่อของพี่ชาตรีได้บอกว่าการปลูกต้นกล้วยคู่กันไว้ เงาของต้นกล้วยจะทำให้ทุเรียนกระตือรือร้นที่อยากจะสูงขึ้นมาแทน เป็นต้น
เรื่องของทุเรียนกับพี่ชาตรีเป็นเรื่องที่หลายคนรู้จักและให้ความสนใจ ล่าสุดก็มีนิตยสารนำเรื่องราวของพี่ชาตรีและสวนแห่งนี้ไปเผยแพร่ สิ่งเหล่านี้แสดงว่าทุเรียนของพี่ชาตรีไม่ธรรมดาเลย…
****************************
“ตอนนี้ผมค่อยข้างจะหลุดพ้น เอาตัวเองเป็นนักเชื่อมโยง คุณมาไม่ต้องมาคุยกับผม ให้เดินไปดูเอง ต้นไม้จะแสดงธรรมให้คุณดู”
“ผมมักถามตัวเองเสมอว่าเราทำอะไร…และทำเพื่อใคร ถ้าตอบปัญหาได้ก็จะชัดเจน เมื่อลูกถามเราว่าทำไปทำไม เราจะได้อธิบายให้เขาฟัง”
ที่มา: มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) วันที่ 15 เมษายน 2554 http://sathai.org/th/about-saft/sa-legends-case-study/item/104-durian-study-laongfa-orchard.html
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”