ถ้าจะเอ่ยถึงบุคคลในประเทศไทยที่เรารู้จักกันในฐานะพ่อครัวคนดังหรือ Celebrity chef ก็คงคุ้นเคยกับชื่อของคุณหมึกแดง ลูกชายของคุณถนัดศรี
หรือถ้ารุ่นเด็กหน่อยก็คงไม่พ้นคุณอิ๊ก บรรณ บริบูรณ์ จากซีรี่ส์ครัวอินดี้ส์ นะครับ
แต่ถ้าเอ่ยชื่อของพ่อครัวคนดังในต่างประเทศแล้ว ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีก็คงหนีไม่พ้นอยู่ 2-3 คน อย่างเช่นนาย Gordon Ramsey เจ้าของซีรี่ส์ดัง Hell’s Kitchen ผู้ซึ่งเรามักจะเห็นเค้าสบถคำหยาบคายใส่ผู้เข้าร่วมแข่งขันในรายการอยู่บ่อยครั้ง
จนบางครั้งก็เครียดจนพาลจะทานอาหารไม่ลงเหมือนกัน
ส่วนอีกนายที่ผมอยากจะกล่าวถึงก็คือนาย Jamie Oliver หรือที่เรารู้จักกันในนามของ The Naked Chef ที่ดังมากๆ ในประเทศอังกฤษ และขยายความดังของเขามายังประเทศต่างๆ ในช่วงทศวรรษ 1990 นะครับ
Jamie เกิดในครอบครัวที่มีพ่อเป็นเจ้าของร้านอาหารและยุ่งอยู่กับอาหารในครัวมา ตั้งแต่เด็ก ถ้าท่านได้เคยดูรายการ The Naked Chef ของเขาท่านจะรู้ว่า เขามี passion ในเรื่องของอาหารและการปรุงอาหารเพียงใด
และสิ่งที่ Jamie พ่อครัวคนนี้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการปรุงอาหารของเขาก็คือ ความสดใหม่ คุณภาพของส่วนประกอบและรายการอาหารที่ทำได้ง่าย และไม่ฟุ้งเฟ้อกับเครื่องปรุงและสิ่งเติมแต่งทางรสชาติและกลิ่นแต่อย่างใด
อีกคาแรคเตอร์ของเขาที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างมากก็คือความจริงใจ ที่เขาใส่เข้าไปในกระบวนการทำอาหารของเขาที่ง่าย ทำได้จริง เชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำอาหาร ซึ่งเขาถือเป็นเรื่องสำคัญมาก
ภายหลังที่เขาเริ่มโด่งดังขึ้นมา และด้วยแนวคิดของเขาที่ให้ความสำคัญอย่างมากคุณภาพของส่วนประกอบอาหาร ทำให้เขาหันมาใช้ประโยชน์จากสถานะของ celebrity chef เพื่อส่วนรวม โดยจัดตั้งองค์กรและกิจกรรมหลากหลาย ที่ส่งเสริมให้คนหันมาสนใจอาหารการกินที่มีประโยชน์กันมาก
ยกตัวอย่างเช่น องค์กรที่มีชื่อว่า 15 Foundation ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2002 เพื่อสนับสนุนให้เด็กที่ด้อยโอกาสได้ผ่านการฝึกอบรมเรื่องของการทำอาหาร และท้ายสุดก็ลงท้ายด้วยการเข้าทำงานเป็นลูกจ้างในร้านอาหาร 4 แห่งที่นาย Jamie เป็นเจ้าของ
แต่กิจกรรมอันหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ สำหรับการที่พ่อครัวธรรมดาคนหนึ่งที่ยอมรับว่าตัวเองเอาดีด้านไหนไม่ได้เลย แม้แต่ภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาเขาเอง ก็ยังอ่านไม่ค่อยออก กลับสามารถลุกขึ้นมาเปลี่ยนแนวคิดของผู้คนที่มีส่วนต่อพฤติกรรมการทานอาหาร ของผู้คนในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ให้หันมาสนใจอาหารและส่วนประกอบที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของตนเองกันมากขึ้น
แคมเปญหนึ่งที่เขาริเริ่มในประเทศอังกฤษในช่วงปี 2004 มีชื่อว่า Jamie’s School Dinner เป็นแคมเปญที่เขาทำรายการผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง channel 4 ของอังกฤษ ด้วยการเข้าไปเปลี่ยนแปลงรายการอาหารในโรงเรียนแห่งหนึ่ง หลังจากเห็นว่าคุณภาพของอาหารที่ทางโรงเรียนเสิร์ฟให้กับนักเรียนคือ junk food ดีๆ นี่เอง
เขาได้สอนให้ทางผู้ดูแลอาหารของโรงเรียนรู้จักการเลือกสรรส่วนประกอบของ อาหารที่ดี คุณประโยชน์มาเพื่อประกอบเป็นอาหารให้นักเรียนทาน
ด้วยแคมเปญนี้เอง ที่ทำให้เขามีโอกาสได้พูดคุยกับนาย Tony Blair นายกรัฐมนตรีของอังกฤษสมัยนั้นและสามารถทำให้นาย Blair อนุมัติงบประมาณกว่า 280 ล้านปอนด์ในการยกเครื่องการจัดการเรื่องโภชนาการให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเจ้าหน้าที่และเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อนำไปสู่ โภชนาการที่ดีขึ้นสำหรับเด็กๆ
มาในปีที่แล้ว Jamie ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมายังสหรัฐอเมริกา และจัดทำแคมเปญในลักษณะคล้ายๆ กันเพื่อสร้างสำนึกให้กับประชาชนสหรัฐได้ทราบว่า ประเทศของเขากำลังต่อสู้กับศัตรูที่ร้ายกาจอย่างโรคอ้วน และพยายามสร้างแคมเปญเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวอเมริกาให้กันมา สนใจกับวิถีชีวิตการกินอยู่มากขึ้น
แคมเปญนี้มีชื่อ Jamie Oliver’s Food Revolution โดยเขาจัดทำเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์คล้ายๆ กับที่เคยทำที่อังกฤษ และเลือกเอาเมือง Huntington ในรัฐ West Virginia ซึ่งเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าประชากรเป็นโรคอ้วนมากที่สุด
โดยเขาตั้งจุดหมายไว้ว่า จะทำให้ชาวเมืองนี้หันกลับมาเห็นความสำคัญของการปรุงอาหารที่มีคุณภาพแทน การบริโภค junk food ให้ได้ เริ่มจากโรงเรียนแห่งหนึ่งและขยายไปสู่ครอบครัวในเมืองเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมให้ทุกคนหันไปเข้าครัว
รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับร้านขายของในเมืองดังกล่าว เพื่อช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมทั้งหมดให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง
Jamie เป็นคนที่รู้จักใช้เครื่องมือในการสร้างแคมเปญได้อย่างดีเยี่ยมไม่ว่าจะเป็น รายการโทรทัศน์ หนังสือที่เขาเขียนขึ้นมาเกี่ยวกับอาหาร รวมถึงความแข็งขันในการสร้าง community เพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วมของบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว แคมเปญดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จ
ผมอยากให้ท่านผู้อ่านลองไปเปิดดูวิดีโอของ Jamie ที่มีโอกาสขึ้นกล่าวบนเวทีฟอรัมของ TED ซึ่งเป็นฟอรัมของบรรดานักคิดและนักสร้างสรรค์ในเรื่องต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีผู้มีชื่อเสียงไม่ว่าจะเป็นด้านใดๆ ที่มีหัวคิดก้าวหน้า
แล้วท่านผู้อ่านจะทึ่งในความเรียบง่ายแต่มี impact ของสิ่งที่นาย Jamie ได้กล่าวกับบรรดาผู้ฟังชาวอเมริกันถึงวิถีการบริโภคของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจของโลกแต่กำลังโดนโจมตีด้วยโรคอ้วน
สิ่งที่เขาทำได้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นในเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งแต่ผลที่ได้กลับส่งผลกับคนที่ได้รับรู้เรื่องดังกล่าวอีกหลายล้านคน ซึ่งผมได้ฟังแล้วก็ไม่แปลกใจเลยที่เขาได้รับรางวัล TED Prize ของปีนี้ที่มอบให้แก่ผู้ที่มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโลกของเราที่ยอดเยี่ยมที่สุด
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์