อดิศักดิ์ แก้วรากมุข ดีไซน์เพื่อโลกและชีวิต

Urban Tree สินค้าของคนรักษ์โลกอีกคน เพื่อช่วยกันดูแลสุขภาพและชีวิตที่ดี

“ชีวิต คือ การเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด”

เพราะเชื่อเช่นนั้น อดิศักดิ์ แก้วรากมุข อดีตนักการศึกษาทางเลือก จึงมีวิธีการเรียนรู้ตามแบบของเขา เขาเคยแบกเป้ไปทำงานอาสาสมัครในแคมป์ YMCA ที่อเมริกา

ไหนๆ ก็ไปไกลถึงอเมริกา สิ่งที่พบพาไปด้วย ก็คือ ความเป็นไทย เขาไปริเริ่มคอร์สการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยและอาหารไทยให้เด็กอเมริกันได้รู้จักประเทศไทย จากนั้นกลับมาเมืองไทย ทำงานเป็นผู้ประสานงานดูแลนักศึกษานานาชาติ โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เมื่อมีโอกาสเข้าไปคลุกคลีกับชุมชนและเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำให้เห็นว่า น่าจะต่อยอดผลิตภัณฑ์จากชุมชน และช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม จึงหันมาเปิดร้านเล็กๆ จำหน่ายสินค้าออแกนิก Urban Tree ในกรุงเทพฯ โดยไม่ได้มองแค่เทรนด์ แต่มีความชอบส่วนตัวและอยากให้ความรู้ผู้บริโภค จนมาถึงจุดสร้างแบรนด์ของตัวเอง เป็นที่รู้จักในวงการคนรักษ์โลกและรักสุขภาพ

“ตอนที่ลงชุมชน สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านถามเรา ก็คือ เมื่อทำผลิตภัณฑ์การเกษตรดีๆ ออกมา แต่ไม่มีช่องทางการตลาดหรือสถานที่ขายสินค้า จะทำอย่างไร เราฟังก็เก็บไว้ในใจว่า สักวันหนึ่งอยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน อยากให้มีช่องทางหลากหลายให้เกษตรกรในชุมชน”

1.) นั่นเป็นโจทย์หนึ่งที่อดิศักดิ์รอวันเวลาที่พร้อม โดยตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ถ้าชีวิตหาเงินอย่างเดียว โดยไม่คิดเรื่องสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จะทำให้ชีวิตเราสมบูรณ์ได้อย่างไร แต่ถ้าหาเงิน แล้วได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมรอบข้างบ้าง อาจทำให้ชีวิตเราสมบูรณ์และมีความสุข ก็เลยหันมาทำธุรกิจออแกนิค

“เรื่องออแกนิคเป็นเรื่องที่ผมชอบมาตั้งแต่เด็ก ผมชอบธรรมชาติ และที่บ้านก็จะปลูกผักออแกนิคกินเอง ถ้าไปอยู่ที่ไหน มีที่ดินสักนิดก็ปลูกผัก เราคิดเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ต้น การทำธุรกิจมาจากแรงบันดาลใจที่ได้เห็นและสัมผัสชีวิตชุมชน เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มีคุณค่า”

คุณค่าของความเป็นไทย ไม่ว่าเรื่องการปลูกข้าวอินทรีย์มีมานาน แต่คนส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจ สิ่งเหล่านี้ เขาบอกว่า ต้องรู้จักสร้างสรรค์

“ถ้าอยากทำอะไรบางอย่าง แล้วตั้งใจทำ ผมไม่ได้สนใจว่ายากหรือง่าย แต่เราทำเพราะมีความสุข คิดง่ายๆ ไม่ต้องคิดซับซ้อน จึงไม่มีอุปสรรคในเรื่องความคิด เมื่อออกจากงานประจำ ตอนแรกคิดแค่ร้านค้าออแกนิค ถ้าทำแบรนด์ก่อนทำร้าน อาจล้มได้ง่าย การทำร้านเหมือนการทำวิจัย เป็นการเรียนรู้ว่าอะไรขายได้ ตอนนั้นคิดจะขายข้าวอย่างเดียว แต่ปรากฏว่าขายไม่ดีเหมือนสินค้าอื่นๆ ถ้าเราอยากใช้อะไร ก็ขายอย่างนั่น โดยตั้งโจทย์ว่า ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพผู้ใช้ด้วย”

โจทย์ง่ายๆ ที่อดิศักดิ์และจิระสุดา อารีพันธุ์ สถาปนิกสาว หุ้นส่วนร้าน Urban Tree ทดลองทำ และค่อยๆ พัฒนาสินค้ากรีนๆ ให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่ากลุ่มอาหาร ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงามและอาหารว่าง

เขายกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ชาหลากหลายรสชาติ ตั้งชื่อตามความรู้สึก โดยสินค้าเหล่านี้จะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี และมีช่องว่างในตลาด เขาใช้วิธีดีไซน์แบรนด์ร่วมกับชุมชน และดีไซน์เองบ้าง เพราะแบรนด์เหล่านี้ผลิตโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

“ในยุคที่คนไทยเริ่มป่วยด้วยมะเร็งเยอะขึ้่น ทำให้เกิดกระแสสุขภาพ คนหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ แต่ก็ใช่ว่าปลอดภัย จนมาเรื่องออแกนิค ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ทำให้คนนิยมสินค้าพวกนี้ เมื่อก่อนพ่อค้าคนกลางเป็นคนตั้งราคา และสิ่งที่เราพยายามทำ คือไม่เอารัดเอาเปรียบ โดยให้ชาวบ้านตั้งราคาวัตถุดิบที่จะขายให้เรา แล้วเรานำมาพัฒนาราคาให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต”

2.) กว่าจะมาถึงจุดการเป็นเจ้าของร้านเล็กๆ รักษ์โลกและดูแลสุขภาพ อดิศักดิ์ ก็เรียนรู้ที่จะเข้าใจชีวิตและผู้คน

“ผมเคยเป็นครูมอนเตสซอรี่ พอทำร้านซึ่งตั้งอยู่หน้าโรงเรียนราชินีบน เมื่อผู้ปกครองบางคนรู้ว่า ผมเคยเป็นครูมาก่อน ก็เอาลูกมาฝากเรียน กลายเป็นว่า เรารับสอนที่บ้านด้วย” อดิศักดิ์ เล่าถึงงานอีกส่วนในช่วงที่เปิดร้าน Urban Tree

หากย้อนถึงช่วงก่อนหน้านี้ ตอนที่เขากำลังเรียนปริญญาโทภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนั้นอดิศักดิ์ทำงานแถวๆ ไนท์พลาซ่า และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเข้ามาเป็นครูเพราะวันหนึ่งเจอชาวต่างชาติ ชวนไปทำงานที่โรงเรียนปิติศึกษา (เชียงรายมอสเตสซอรี่)

“จำได้ว่า ผมสอนเด็กประถมต้นและปลาย ห้องหนึ่งจะมีสามปีอยู่รวมกัน เราสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เด็กๆ สอนทุกวิชาในห้องเดียวกัน ตอนนั้นภาษาอังกฤษผมไม่ดีมาก ทำงานตรงนั้นเหมือนอยู่เมืองนอก เพราะอยู่กับคนต่างชาติตลอดสี่ปี”

การสอนเด็ก ทำให้เขาได้เรียนรู้มากมาย เพราะปรัชญาโรงเรียนแห่งนี้เชื่อว่า คนเราเรียนรู้ตลอดชีวิต อดิศักดิ์ จึงเชื่อมั่นว่า การเรียนรู้ไม่ว่าเรื่องใดก็ตามสามารถเรียนรู้ได้เองทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องพึ่งสถาบัน ถ้ามีความรู้เรื่องภาษา การอ่าน การเขียน สามารถหาเองได้หมด ในเรื่องที่คนทั้งโลกรู้

“ผมก็ได้เรียนรู้แบบนี้แหละ ผมมีความรู้สึกว่าการเรียนรู้แบบพึ่งพาสถาบัน เหมาะกับการเริ่มต้น แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง แม้สิ่งที่เราเรียนมามีประโยชน์ แต่ถามว่ามีประโยชน์ต่อชีวิตไหม ก็ไม่ใช่ ยังมีความรู้อีกมากมายที่เราเรียนรู้เองได้ ถ้าเราเปิดใจให้กว้างแล้วเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ผมว่า มันไปได้ไม่จำกัด การเป็นครูในโรงเรียนนั้น ผมได้เรียนรู้กับเด็กๆ ได้ประสบการณ์หลากหลาย แต่เราต้องเปิดรับ ซึ่งผมก็พยายามอยู่”

3.) ย้อนไปถึงช่วงหนึ่งของชีวิต ตอนที่อดิศักดิ์ทำงานเป็นครูโรงเรียนทางเลือก เมื่อถึงจุดอิ่มตัว เขาก็อยากออกท่องโลก ในช่วงจังหวะนั้นเพื่อนฝรั่งคนหนึ่งบอกว่า คุณก็เก่งแล้ว ก็ออกเดินทางสิ เขาแนะนำให้อดิศักดิ์ไปทำงานที่ YMCA แคมป์ในอเมริกา

“ผมก็ขายมอเตอร์ไซค์ มีเงินติดตัวแปดพันบาท ไปเรียนรู้แปดเดือน เราเป็นคนไทยคนเดียวที่อยู่ที่นั่น สิ่งที่ได้คือภาษา และได้เรียนรู้การปรับตัวที่จะอยู่ที่นั่น จนได้ริเริ่มเปิดคอร์สวัฒนธรรมไทยและอาหารไทยในแคมป์ เพราะตอนนั้นพวกเขาคิดว่าประเทศไทยคือไต้หวัน ปรากฏว่า เด็กอเมริกันสนใจมาก สุดท้ายเขาชวนทำงานเป็นพ่อครัว และเมื่อผมมีเงินจากการเป็นอาสาสมัคร ก็ใช้เที่ยวรอบอเมริกา”

แต่ในที่สุดอเมริกาเป็นแค่ทางผ่าน เพราะเขาตัดสินใจกลับมาทำงานเป็นผู้ประสานงาน โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เหมือนเช่นที่กล่าวมาตอนแรก และเป็นจุดที่ได้เรียนรู้ชุมชน ตอนที่พานักศึกษาอเมริกันลงไปเรียนรู้ด้วยกัน

“ผมได้รู้ว่าภูมิปัญญาชาวบ้านมีคุณค่ามากมายมหาศาล เขาเก่งในสิ่งที่เขาทำ เราก็ไปเรียนรู้ แล้วเอาภูมิปัญญาของเราช่วยครีเอทีฟต่อ ก็เลยเกิดไอเดียทำผลิตภัณฑ์ ให้เหมาะกับคนในสังคมปัจจุบัน ถ้าเราเปิดตารับรู้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มีประโยชน์ การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น เรียนรู้ได้ตลอดชีวิตและสามารถเอาสิ่งที่เรียนรู้มาพัฒนาต่อยอดได้ ถ้าเราเปิดใจเรียนรู้กับมัน เราก็จะเห็นคุณค่าบางสิ่ง แต่ถ้าเราบอกว่าไม่สนใจก็คือการปิดประตู และสิ่งที่ผมเปิดใจเรียนรู้คือ การทำสิ่งที่ไม่มีพิษมีภัยให้กับผู้บริโภค เราก็จะค่อยๆได้สิ่งเหล่านี้ ถ้าเรามีจุดแข็ง คนก็จะตามหาเอง”

เขายกตัวอย่าง การเรียนรู้เรื่องข้าว คนส่วนใหญ่จะคิดว่า ข้าวหอมมะลิสุดยอดแล้ว แต่สำหรับเขายังมีข้าวไทยกกว่าสองร้อยสายพันธุ์น่าเรียนรู้

“เราไม่ควรยึดติดแค่นี้ ยังมีอะไรที่ค้นหาได้อีกเยอะ หากถามว่าออแกนิคเป็นเรื่องใหม่หรือเปล่า ประเทศไทยเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว เป็นออแกนิคร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ถามว่าสิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ เป็นการลืมสิ่งที่บรรพบุรุษทำหรือเปล่า…ไม่ใช่ แต่นำสิ่งที่บรรพบุรุษทำกลับมาให้รับรู้และยอมรับ หน้าที่ผมมีอยู่แค่นี้ สิ่งที่ผมรู้ก็คือ พันธุ์ข้าวหอมมะลิ เป็นพันธุ์ข้าวที่ตันแล้ว เพราะขายกันทุกหัวระแหง แต่พอเรารู้ว่ามีข้าวหลากหลายสายพันธุ์ เราก็แนะนำให้คนรู้จักข้าวพันธุ์อื่นๆ อีก อาทิ ข้าวหอมมะลิแดง รสอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ มีงานวิจัยบอกว่า เป็นข้าวพันธุ์ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด สูงกว่าบลูเบอร์รี่หลายเท่า แล้วยังมีข้าวหอมมะลิเวสันตาระ ข้าวพญาลืมแกง ฯลฯ “

เพราะร้านกรีนๆ ของเขา ไม่ใช่แค่ขาย แต่ให้ความรู้ด้วย

“ผมตั้งชื่อร้านแบบนี้เหมือนต้นไม้ที่อยู่ในเมือง เมื่อเราบริโภคสินค้าที่ผลิตโดยเกษตรกรท้องถิ่น ก็เหมือนการปลูกต้นไม้ทุกวัน ทำให้เกษตรกรอยู่ได้ ไม่ต้องขายบ้านทิ้ง และการทำเกษตรอินทรีย์ เป็นความยั่งยืน ผมมองว่า คนที่บริโภคสินค้าออแกนิค ไม่ได้คิดว่าแพงหรือไม่แพง แต่คิดว่า มีสารเคมีหรือเปล่า ต้องทำความเข้าใจที่มาที่ไปสินค้าออแกนิค พวกเขาไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า แต่ใช้คนตัดหญ้า ดังนั้นราคาไม่ใช่ปัจจัย สุขภาพเป็นปัจจัยหลัก ในการบริโภค”

……………………

หมายเหตุ : ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.urbantreeorganics.com

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 โดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/society/20121112/477686/อดิศักดิ์-แก้วรากมุข-ดีไซน์เพื่อโลกและชีวิต.html

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post

ตลาดสด ตลาดนัด ความสำคัญต่อปากท้องของคนไทย

ผลสำรวจตลาดสดหลายแห่ง พบว่ารูปแบบการจัดการตลาดยังคงเป็นแบบดั้งเดิม ในขณะที่บางตลาด มีการนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประกอบการจัดการตลาด

Read More