ตุ้มปลายอน วิถีประมงน้ำมูน

“แม่น้ำมูน” เป็นลำน้ำสายหลักไหลผ่านหลายจังหวัดอีสานใต้ ตั้งแต่จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ก่อนไหลลงแม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีความยาวทั้งสิ้น 726 กิโลเมตร ชาวบ้านริมน้ำมูนใช้ประโยชน์ทั้งด้านการเกษตรและประมงมาช้านาน

แต่เมื่อการก่อสร้างเขื่อนปากมูลกั้นที่ อ.โขง เจียม ปิดกั้นการไหลอย่างอิสระของสายน้ำ วิถีชีวิตชาวบ้านถูกทำลายย่อยยับ ก่อเกิดผลกระทบมหาศาล โดยเฉพาะอาชีพประมง

เนื่องจากปลาในแม่น้ำโขงไม่สามารถอพยพขึ้นมาวางไข่ต้นน้ำได้เหมือนเช่นเดิม ปลาที่เคยชุกชุมเหลือน้อย บางชนิดถึงขั้นสูญพันธุ์

รวมไปถึงเครื่องมือจับปลาหลายชนิดที่หายไปพร้อมกับพันธุ์ปลา

นายทองปน ชัยคำ สมาชิกอบต.บ้านค้อใต้ อ.พิบูลมัง สาหาร จ.อุบลราชธานี ย้อนให้ฟังว่า เดิมชาวบ้านทำประมงหาปลาในลำน้ำมูน สามารถจับปลาได้ตลอดทั้งปี 

ภาพจาก http://www.thaiknowledge.org/board

ก่อนที่มีเขื่อนปากมูล ปลาในแม่น้ำมีจำนวนมากหลากหลายพันธุ์

แต่เมื่อพอมีเขื่อน ปลาหลายชนิดเกือบหายสาบสูญไปจากแม่น้ำมูน รวมถึง “ตุ้มปลายอน” เครื่องมือจับปลาของชาวบ้านค้อใต้

“ตุ้มปลายอน” เป็นเครื่องมือจับปลาในแม่น้ำมูนที่มีมาแต่โบราณ พบหลักฐานเป็นภาพเขียนสีปรากฏอยู่ที่ผาแต้ม อ.โขงเจียม ตุ้มจับปลายอนเสมือน เป็นสัญลักษณ์ของชาวบ้านค้อใต้

เครื่องมือหาปลาชนิดนี้ทำจากไม้ไผ่สานลายขัดมีความยาวถึง 8 เมตร วิธีการทำเริ่มจากสานก้นตุ้ม หรือเรียกว่า “ปากงา” มีลักษณะเป็นวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว

ภาพจาก http://www.esaanvoice.net/

ปากงาเป็นหัวใจสำคัญของตุ้ม เพราะปลายอนจะเข้าทางด้านนี้ จึงต้องสานให้แน่น ส่วนก้นตุ้มจะมีขนาดใหญ่สานโค้งเหมือนสุ่มไก่ จากนั้นจะเริ่มสานต่อเป็นรูปทรงกรวยยาวไปถึงปากตุ้ม ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร เมื่อสานก้นตุ้มและขึ้นโครงเสร็จจะนำไปแขวนบนต้นไม้ ให้ตุ้มอยู่ในรูปแนวตั้งเพื่อสะดวกในการสาน กินเวลาประมาณ 1 สัปดาห์เสร็จ

ด้าน ลุงอุดม แสงป้อง ชาวประมง บ้านค้อใต้ เล่าว่า ที่ริมตลิ่งแม่น้ำมูนตรงบ้านค้อใต้เป็นช่วงที่น้ำมูนลึกที่สุด เหมาะสำหรับการจับปลายอน หรือ ปลาสังกะวาด เพราะปลาชนิดนี้ชอบว่ายอยู่ในน้ำลึก รวมกันเป็นกลุ่ม ดังนั้น จึงต้องวางตุ้มในน้ำลึก 10 เมตร

ส่วนวิธีการปักหลักตุ้มจะเลือกบริเวณที่น้ำไหล จากนั้นจะนำไม้ไผ่ยาว 15 เมตร 5 ลำ ลงไปปักยึดกับพื้นให้มั่นคง เว้นพื้นที่พอให้ก้นตุ้ม เพื่อให้ปลายอนเข้าได้

ขั้นตอนต่อไปนำตุ้มที่ผูกคานติดไว้มาวางในแนวตั้ง ให้ปากตุ้มพ้นน้ำประมาณ 1 คืบ ผูกคานตุ้มติดกับหลัก และต้องดำน้ำลงไปตรวจก้นตุ้ม ดูความเรียบร้อยที่ปากงา ให้ก้นตุ้มห่างจากพื้น 1-2 เมตร เพื่อเปิดพื้นที่ให้ปลาว่ายเข้าไปได้ง่าย

ลุงอุดมเล่าว่า ในอดีตที่ท่าน้ำฝั่งบ้านค้อใต้จะมีชาวบ้านปักหลักตุ้มปลายอนกว่าร้อยตุ้ม แต่ละตุ้มได้ปลายอนประมาณ 50 ปี๊บ แต่เมื่อมีเขื่อนปากมูล ชาวบ้านจับปลายอนได้ 5 กิโลกรัมเท่าต่อวันเท่านั้น

ทำให้ในปีพ.ศ. 2535 ชาวบ้านเลิกทำตุ้มปลายอน เพราะไม่มีปลายอนเข้าตุ้มแม้แต่ตัวเดียว เนื่องจากปิดเขื่อน น้ำมูนไม่ไหล ปลายอนจึงไม่สามารถอพยพขึ้นมาวางไข่

กระทั่งเมื่อปีพ.ศ.2548 รัฐบาลสั่งเปิดเขื่อนช่วงเดือนมิ.ย.-ต.ค. ชาวบ้านจึงทำตุ้มปลายอน แล้วลองนำไปวางดัก พบว่าในตุ้มมีปลายอน จากนั้นชาวบ้านบางส่วนจึงหันกลับมาทำตุ้มปลายอน แต่ไม่มากเหมือนแต่ก่อน ปัจจุบันเหลือเพียง 20 กว่าตุ้ม

สำหรับปลายอน เป็นปลาเนื้อมีขนาดตัวยาว 4 นิ้ว หัวเล็ก ลำตัวอ้วน มีสีเงินเลื่อมขาวตั้งแต่ครีบจรดปลายหาง ชาวบ้านนิยมนำไปทำปลายอนแดดเดียว หรือนำไปทำต้มปลายอน ราคากิโลกรัมละ 100 บาท ปัจจุบันหากินได้ยากมาก ในปีหนึ่งจะหาปลายอนได้ในช่วงมิ.ย.-ส.ค.เท่านั้น หากเลยช่วงนี้ไประดับน้ำจะสูง กระแสน้ำแรง ฝนตกหนัก จึงไม่เหมาะแก่การใช้ตุ้มจับปลายอน

ลุงอุดมบอกเคล็ดลับด้วยว่า วิธีการล่อปลาเข้าตุ้มต้องนำปลายข้าวต้มสุกมาใส่ไว้ในตุ้มเพื่อล่อปลายอนเข้ามากิน โดยปั้นข้าวเป็นก้อนกลมหย่อนลงไปในตุ้ม ข้าวจะลงไปอยู่ก้นตุ้ม จากนั้นใช้มือตีน้ำให้เป็นจังหวะ เพื่อเรียกปลาเข้ามากินข้าวในตุ้ม ในหนึ่งวันจะทำอย่างนี้ 3-4 ครั้ง และเมื่อปลาเข้ามาในตุ้มแล้วจะไม่สามารถว่ายออกได้

ช่วงเวลาตี 3 ทั้งลุงอุดมและเพื่อนประมงจะออกไปกู้ตุ้ม เมื่อถึงที่หมายดึงสายที่ผูกอยู่กับปากตุ้มขึ้นเพื่อปิดปากงา พร้อมทั้งปิดปากตุ้ม ปลดเชือกระหว่างตุ้มกับหลักออก ดึงตุ้มขึ้นมาให้ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ แล้ววางพาดขึ้นมาไว้บนเรือ ก่อนพายเข้าฝั่ง

เมื่อถึงฝั่งยกก้นตุ้มให้อยู่สูงกว่าปากตุ้ม จากนั้นเปิดปากตุ้มเทปลายอนลงในภาชนะมารองไว้ เมื่อเขี่ยปลายอนจนหมด นำตุ้มกลับไปที่หลักตามเดิมทำความสะอาดก้นตุ้ม และปากงาให้สะอาด นำกลับไปผูกไว้กับหลักเดิม นำปลาที่จับได้ไปขายในตลาด

ลุงอุดมบอกว่า ผลกระทบจากเขื่อนปากมูลมีมากมาย แต่ชาวบ้านได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปตามสภาพแวดล้อมแต่ปัญหาอยู่ที่การจัดสรรทรัพยากร น้ำให้เกิดความเหมาะสม การเปิดหรือปิดประตู เขื่อนจึงจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน

ดังนั้น ต้องคำนวณการปิดเปิดเขื่อนให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีพของชาวบ้าน ทั้งที่อยู่หน้าเขื่อนและหลังเขื่อน

ที่มา : ข่าวสด? 19 ก.ค. 52

Relate Post