รูต การ์เด้น แปลงผักกลางกรุง ย่านธุรกิจ

ใจกลางเมือง ยิ่งย่านธุรกิจ ที่อยู่อาศัยอย่าง ทองหล่อ การจะหาพื้นที่สีเขียวสักแห่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

(วรุตม์ บุณฑริก)

ทว่าตอนนี้ผู้คนที่ทำงานย่านทองหล่อหรือใครที่ผ่านไปแถวนั้นอาจจะเห็นสวนแห่งหนึ่งขนาดไม่ใหญ่มากนักที่ใช้ชื่อว่า“Root Garden” ตั้งอยู่ข้างๆ สถาบันปรีดีพนมยงค์ อยู่ในซอยที่คนพลุกพล่านอย่างซอยสุขุมวิท 55 หรือซอยทองหล่อ แถมยังอยู่ในพื้นที่ราคากว่าร้อยล้านอีกต่างหาก

“ที่ดินบริเวณนี้มีมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท แต่มูลนิธิไชยวนาซึ่งเป็นเจ้าของที่อนุญาตให้เราใช้ได้โดยไม่คิดค่าเช่าจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อทำโครงการพลิกฟื้นที่ดินรกร้างให้กลับมามีคุณค่า” วรุตม์ บุณฑริก ผู้จัดการสวน Root Garden เล่า และเล่าถึงที่มาที่ไปของสวนนี้ว่าเกิดจากแนวคิดที่ต้องการสื่อสารกับกลุ่มประชาชนคนเมืองให้รับทราบถึงปัญหาของที่ดินซึ่งที่ผ่านมาคนกรุงจะมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวแต่เราอยากเอาเข้ามาไว้ใกล้ๆตัวให้เขารับรู้โดยเป้าหมายหลักของการจัดตั้งสวนนี้ขึ้นมามี 3 ข้อ คือ 1.หวังจะสื่อสารให้คนทุกกลุ่มเข้าใจและร่วมกันสนับสนุนกฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน 4 ฉบับ ซึ่งที่ผ่านมาเครือข่ายพยายามผลักดันให้ผ่านการพิจารณา เพื่อหวังให้เกิดการปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นรูปธรรม 2.นำเสนอเรื่องของเกษตรอินทรีย์ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งสวนนี้จะทำแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่มีการใช้สารเคมี และ 3.อยากให้เป็นพื้นที่สีเขียวของเมือง

rootgarden2


ถามถึงที่มาของชื่อสวน Root Garden วรุตม์บอกว่า เกิดจากการที่ต้องการชื่อที่สื่อถึงรากฐานของการพัฒนา ซึ่งสวนนี้คือการพลิกฟื้นที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้กลับมามีคุณค่า อยากให้เป็นตัวอย่าง ต้นแบบให้นำกลับไปทำในพื้นที่ของตัวเอง รวมทั้งอยากให้พื้นที่นี้เป็นเสมือนพื้นที่สาธารณะที่คนในย่านเมืองจะเข้ามาพบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน

วรุตม์และเครือข่ายร่วมกันพลิกฟื้นที่ดินนี้เมื่อวันที่7พฤศจิกายน2557ใช้เวลาปรับปรุงเป็นเวลา 2 เดือนครึ่ง ภายในสวนประกอบด้วยแปลงผักชนิดต่างๆ อาทิ ผักกาดขาว ผักชี ฯลฯ แปลงนาสาธิต โรงเพาะเห็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะ นอกจากนี้ยังมีร้านกาแฟซึ่งขายกาแฟออร์แกนิคและผลิตภัณฑ์จากสวน

rootgarden3

“ผมต้องการให้ผักในสวนสามารถเลี้ยงตัวเองได้สวนนี้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองนั่นจึงถือว่าเราพลิกฟื้นที่ดินได้สำเร็จ”วรุตม์กล่าวและว่า ตั้งแต่เปิดตัวมานั้นมีคนเข้ามาชมประมาณวันละ 200-300 คน ส่วนมากเป็นคนไทย มีตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ที่พ่อแม่พาเข้ามาเดินเล่น และบ้างก็มีคนสูงอายุที่เข้ามาเดินดูสวน นอกจากนี้ เด็กๆ ในโรงเรียนนานาชาติในซอยทองหล่อและชาวต่างชาติต่างก็ให้ความสนใจเข้ามาเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย ถือว่าเกินความคาดหมาย

“สวนเปิดโอกาสให้ทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมชมได้มาทำกิจกรรมในสวนนี้ได้ อย่างเด็กๆ ก็จะชอบให้นมแพะหรือรดน้ำต้นไม้ บ้างก็มาเก็บเห็ด ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะเปิดรับอาสาสมัครเข้ามาร่วมทำงานและจัดทำเป็นตารางเวรงานต่างๆ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม เนื่องจากพื้นที่นี้ไม่ใช่ของใคร แต่เป็นพื้นที่สาธารณะ”
 วรุตม์กล่าว

ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมสวนใจกลางเมืองแห่งนี้ สามารถไปได้ทุกวัน ในเวลา 08.00-20.00 น. แต่หากอยากจะมาจิบกาแฟออร์แกนิคชมสวนนั้น ให้ไปวันอังคาร-อาทิตย์ (เว้นวันจันทร์) เนื่องจากร้านกาแฟหยุด นอกจากนี้ หากใครจะมาร่วมกิจกรรมกับสวน ทุกวันอาทิตย์แรกของเดือนจะมีกิจกรรมเวิร์กช็อปและตลาดนัดในสวน ส่วนวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือน จะมีการจัดงานเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจ

ไปเที่ยวกันได้ ไม่มีค่าเข้าชม!


ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2558  
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1422168532

#########

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์
การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆจากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่
ไม่ได้ทำเพื่อการค้า

Relate Post