บริโภคอาหารรับร้อนลดร้อน

ก้าว เข้าสู่หน้าร้อนทีไร เป็นต้องได้ยินเสียงบ่นถึงความร้อนกันทุกบ้าน บางจังหวัดทั้งร้อนทั้งหนาวและฝนสลับกัน อันเนื่องมาจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน ร้อนๆ อย่างนี้ร่างกายของเราปรับสภาพไม่ทันก็อาจเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้นจึงต้องดูแลสุขภาพรับหน้าร้อนอย่างใส่ใจกันหน่อย

อันดับ แรกคือเรื่องของผิวพรรณ ที่ต้องโดนแดดแผดเผา หรือแม้แต่อยู่ในบ้านไอร้อนยังแผ่รังสีเข้าถึงเลย สิ่งที่น่ากลัวสำหรับสาวๆ คือ ดำๆๆ และแสบร้อนผิว ฉะนั้นก็ต้องทาครีมกันแดด หรือใช้สมุนไพรช่วยบรรเทาความแสบร้อนของผิว อย่างเช่น ใช้ใบตำลึงขยี้หรือคั้นเอาน้ำ แครอต เสลดพังพอนบัวบก ว่านหางจระเข้ ปั่นและกรองเอาแต่น้ำ และแครอต และว่านหางจระเข้ยังช่วยลดฝ้าได้ด้วย
ถ้า มีอาการผดผื่นคัน  ก็ใช้สบู่สมุนไพร กลุ่มที่มีสรรพคุณลดผื่นคัน เช่น สบู่ขมิ้น เสลดพังพอน  หรือ มีอาการของโรคผิวหนังกลากเกลื้อนด้วยก็ใช้สบู่เปลือกมังคุด สบู่ทองพันชั่ง ว่านหางจระเข้ บัวบก ให้ดูสรรพคุณตามอาการที่เกิดขึ้น และควรหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีการโฆษณาว่าฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้สะอาดหมดจด ติดต่อกันนาน เพราะจะทำให้ผิวเกิดอาการแพ้ได้ง่าย และเพิ่มความแสบร้อนให้แก่ผิวหนังยิ่งขึ้น

สำหรับ อาหารการกินเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย ช่วงหน้าร้อนมักเสียเหงื่อมาก ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ อ่อนเพลีย อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร ในทางตรงข้ามก็อาจมีอาการท้องเดินท้องเสียได้ง่าย นั่นเป็นเพราะความแปรปรวนของภาวะธาตุน้ำในร่างกาย ทำให้ธาตุน้ำ หย่อน กำเริบ หรือพิการ จนเป็นเหตุให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ แต่อาจไม่ถึงขั้นเจ็บป่วย แต่ก็ไม่สบายตัวไม่สบายอารมณ์ เป็นต้น

ภาวะ อีกประการที่มักเกิดขึ้นบ่อยในช่วงนี้คือภาวะร้อนใน โดยเฉพาะเด็กๆ มักมีอาการปากเป็นแผลบ่อย พ่อแม่บางท่านอาจไม่รู้ว่าสาเหตุมาจากอะไร ก็ไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควร คิดว่าเป็นเองก็หายเองได้ ภาวะร้อนในนี้เกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่เราก็มักมองข้ามไม่ใส่ให้ความใจดูแลและรักษาทั้งที่เป็นเรื่องง่ายๆ เพียงรู้หลักของฤดูกาลและการบริโภคอาหารให้เหมาะสมก็ช่วยได้ทั้งในแง่ของการ ป้องกันและรักษา

อาหาร การกินที่เหมาะสมคือ อาหารที่ปรุงจากพืชผักสมุนไพรที่มีรสขม เย็น จืด เมนูประจำในฤดูกาลนี้แต่ละวัน เช่น แกงจืดมะระ แกงจืดแตงกวา ต้มฟัก แกงจืดตำลึง ผัดผักบุ้ง ผัดบวบ ผัดสายบัวหรือต้มสายบัว  แกงขี้เหล็ก ห่อหมกใบยอ ข้าวแช่ หรือน้ำพริกพร้อมผักสดผักต้ม เช่น  ผักกูด แตงกวา น้ำเต้า ผักบุ้ง ฟักแฟง แตงโม ใบบัวบก สะเดา ยอดกอก

ประเภท เครื่องดื่ม ก็ควรเป็น น้ำใบบัวบก ช่วยลดอาการกระหายน้ำ ลดการอักเสบ น้ำแตงไทย น้ำแตงโม ช่วยขับปัสสาวะ ลดความร้อน ช่วยให้ชุ่มชื่นหัวใจ น้ำตะไคร้ช่วยขับเหงื่อทำให้ตัวเย็น น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะขาม น้ำมะนาว พวกนี้มีลดเปรี้ยว ช่วยดับกระกายได้ น้ำใบเตย ช่วยบำรุงหัวใจ หรือจะใช้หลักการบริโภคตามเวลา เช่น ช่วงเช้า ก็ดื่มน้ำที่มีรสเปรี้ยว สายๆ หรือกลางวันก็ดื่มน้ำที่มีรสขมนิดๆ อย่างบัวบก สำหรับตอนบ่ายก็จิบน้ำขิงหรือน้ำตะไคร้ช่วยปรับธาตุลม และน้ำตรีผลา ซึ่งประกอบด้วย สมอไทย สมอพิเภกและมะขามป้อม เป็นยาปรับธาตุประจำฤดูร้อน และมีการนำมาทำเครื่องดื่มเพื่อดื่มได้ง่ายขึ้น

หลักการแพทย์แผนไทยใช้เรื่องของรสชาติอาหารเพื่อปรับสมดุลร่างกายภายในให้สมดุล กับภาวะอากาศภายนอก จะได้ไม่เจ็บป่วยง่าย รสชาติขมนั้นจะช่วยกระตุ้นการเจริญอาหาร กระตุ้นการทำงานของน้ำดี ทำให้อาหารย่อยง่าย ลดการอักเสบ รสเย็นแก้ร้อนในกระหายน้ำ ลดความร้อนในร่างกาย ลดไข้ ลดพิษร้อน แก้ไข้กำเดา ช่วยให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า รสจืดช่วยขับปัสสาวะและลดความร้อนในร่างกายลงได้

ใช้ หลักการบริโภคอาหารเข้าไปช่วยก็เปรียบเสมือนเติมโอสถสารให้ร่างกายได้ใช้ใน การปรับสมดุลในร่างกายเป็นการสร้างเกราะป้องกันไปพร้อมๆ กับการรักษาเมื่อเกิดความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวขึ้นมา สำหรับภาวะร้อนในจนเกิดอาการปากเป็นแผล ก็ใช้อาหารที่มีรสฝาดเข้ามาช่วยในการรักษา ตามวิธีโบราณมักใช้เปลือกต้นแคใสส่วนของเนื้อสีขาวมาเคี้ยวจนฝาดไปทั้งปาก อมทิ้งไว้สักครูแล้วคายทิ้ง ทำวันละ 2-3 ครั้ง ประมาณ 1-2 วันก็หาย หรือจะใช้ฝางต้มเป็นเครื่องดื่มก็ช่วยได้เพราะฝางมีรสฝาดเล็กน้อย

ถ้า เราเรียนรู้และใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้ไว้ก็จะเป็นความรู้สำหรับใช้ในการดูแล สุขภาพของตนเองและครอบครัวได้ จะร้อนแค่ไหนเราก็ไม่หวั่นเพราะเตรียมรับมือกับหน้าร้อนไว้พร้อมแล้ว

ที่มา : ไทยโพสต์ 25 เมษายน 2553