วิกฤตปนเปื้อนทุบ “แบรนด์ญี่ปุ่น” กระทบชิ่งอาหารทะเล-ซูชิ-เนื้อพรีเมี่ยม

นอกเหนือจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่นำมาสู่สึนามิพัดถล่มพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ “ญี่ปุ่น” ยังเผชิญกับวิกฤตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดการรั่วไหลของกัมมันตรังสี

แม้ขณะนี้ปัญหาในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ไดอิจิ จะเริ่มคลี่คลายบ้างแล้ว หลังเจ้าหน้าที่ระดมแก้ปัญหาและฉีดน้ำระบายความร้อนให้กับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อไม่ให้แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลาย ทำให้ระดับอุณหภูมิในบ่อแช่แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เย็นลงต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส แต่สถานการณ์ในภาพรวมยังคงน่าเป็นห่วง

น่าสนใจว่าญี่ปุ่นอาจต้องเผชิญกับวิกฤตซ้ำซ้อนอีกระลอก หลังเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหว สึนามิ และวิกฤตนิวเคลียร์ โดยตรวจพบการปนเปื้อนกัมมันตรังสีไอโอดีนสูงกว่าระดับที่กำหนดไว้ถึง 7 เท่าในน้ำนมดิบ ผักโขม และผักอีก 2 ชนิดในจังหวัดชิบะ ซึ่งสะท้อนว่าญี่ปุ่นกำลังเผชิญวิกฤตความปลอดภัยเรื่องอาหารเป็นระลอกล่าสุด

“บิสซิเนส อินไซเดอร์” ระบุว่า ความกังวลเรื่องการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในอาหารและน้ำอาจส่งผลในแง่จิตวิทยา และสังคม เพิ่มเติมจากมิติทางเศรษฐกิจ และโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก แม้ทางการญี่ปุ่นจะยืนยันว่าระดับการปนเปื้อนยังไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ในทันทีก็ตาม

ล่าสุด “ปีเตอร์ คอร์ดิงลีย์” โฆษกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำแปซิฟิกตะวันตกออกมาเตือนว่า สถานการณ์ร้ายแรงกว่าที่ประเมินไว้ตอนแรก ซึ่งเดิมประเมินว่าปัญหาจะจำกัดอยู่ภายในรัศมี 20-30 กิโลเมตร

ขณะที่หลายประเทศเริ่มงัดมาตรการออกมารับมือ รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่น อาทิ ไต้หวัน มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำเข้าอาหารมากกว่าส่งออก โดยมูลค่าการนำเข้าอาหารในปี 2552 อยู่ที่ 53 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกอาหารของญี่ปุ่นมีมูลค่าราว 3.3 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หรือ 0.5% ของการส่งออกทั้งหมด แต่วิกฤตปนเปื้อนอาจส่งผลต่อแบรนด์ญี่ปุ่น เนื่องจากความวิตกอาจกระทบชิ่งไปยังผู้ผลิตอาหารและสินค้าที่ไม่ได้ปนเปื้อนกัมมันตรังสี

นิวยอร์กไทมส์ ระบุว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่มีสินค้าส่งออกจากญี่ปุ่นที่ไม่ผ่านมาตรฐานคุณภาพในต่างประเทศ แต่“การรับรู้” เรื่องการปนเปื้อนในอาหารอาจส่งผลต่อแบรนด์ญี่ปุ่นยาวนาน หากมีหลักฐานว่ากัมมันตรังสีแพร่ไปทั่วญี่ปุ่น

“ฮิโรชิ ยูชิดะ” อดีตอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร ให้ความเห็นว่า หากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหนักหนากว่าที่เป็นอยู่ เหมือนกรณีโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล นี่อาจส่งผลต่อแบรนด์ญี่ปุ่น และผู้คนอาจจะไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่น แม้จะปลอดภัย ดังนั้น แม้รัฐบาลจะไม่ได้ระบุถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์เนื้อ เราควรจะตรวจสอบความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่น

“เทรเวอร์ คอร์สัน” ผู้เชี่ยวชาญด้านซูชิ ระบุว่า มีความกังวลเกี่ยวกับอาหารทะเลน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์การเกษตร เพราะสัตว์ทะเลมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด แต่อุตสาหกรรมอาหารทะเลของญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มจะเผชิญกับความยากลำบากในระยะยาวที่จะสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย เหมือนกับความท้าทายที่ชาวประมงในสหรัฐเผชิญหลังเกิดการรั่วไหลของน้ำมันในกรณีของบริติช ปิโตรเลียม (บีพี)

“คอร์สัน” กล่าวว่า ได้พบปะกับผู้คนในตะวันตกที่เริ่มกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในซูชิ ทว่า “ความเข้าใจ” และ “ความจริง” อาจแตกต่างกัน เพราะส่วนใหญ่อาหารทะเลที่ใช้เป็นวัตถุดิบในซูชิไม่ได้มาจากญี่ปุ่นเท่านั้น

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลญี่ปุ่นมักจะเป็นส่วนประกอบในเมนูซูชิระดับพรีเมี่ยม แต่ชาวญี่ปุ่นทั่วไปกินซูชิที่อาจไม่ได้มีส่วนผสมมาจากท้องถิ่นทั้งหมด เหมือนกับที่ผู้บริโภคจากทั่วโลกกินซูชิที่ใช้วัตถุดิบจากที่ต่าง ๆ

ผู้ผลิตเนื้อโกเบและผลิตภัณฑ์เนื้อวัวแบรนด์ญี่ปุ่นหลายรายต่างก็กังวลกับผลกระทบที่อาจมาถึง และยังไม่ทดสอบความปลอดภัยในสินค้า เพราะต้นทุนสูง

“คาซูโนริ อิเคดะ” ผู้อำนวยการสมาคมผู้ประกอบการเนื้อวากิว กล่าวว่า เขาและเกษตรกรคนอื่นๆ ไม่ต้องการที่จะตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย เพราะไม่ได้กังวลว่าจะเกิดการปนเปื้อน เนื่องจากโกเบอยู่ห่างจากจังหวัดฟูกูชิมามาก

“มาซารุ ทาคาฮาชิ” ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรในฟูรุคาวา ระบุว่า เขากังวลถึงการรับรู้ของสาธารณะเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เนื้อวัวญี่ปุ่น หากการตรวจสอบพบการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี โดยหากข่าวลือแพร่กระจายออกไป ก็อาจไม่มีใครซื้อเนื้อวัวของเรา แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงและมีความปลอดภัยก็ตาม

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ  24-03-54

Relate Post